32จังหวัดร่วมเคลื่อน"พืชหลังนา"ดีเดย์ 1 พ.ย.-การันตีน้ำเพียงพอถึงเก็บเกี่ยว

 

     กรุงเทพฯ - นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงความคืบหน้าการกำหนดพื้นที่ปลูกพืชหลังนาว่า ขณะนี้มีความชัดเจนแล้ว ภาคเหนือ 15 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ และอุทัยธานี รวม 403,475.27 ไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สุรินทร์ หนองคาย อุดรธานี และอุบลราชธานี รวม 9,905.78 ไร่ ภาคกลาง 2 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาทและสระบุรี 775,355.94 ไร่ และภาคตะวันออก 1 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี 1,630,036.81 ไร่ ตามการคาดการณ์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนต่างๆ วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ จะเริ่มโครงการ ปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่งจะมี 61,279 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 86% ของความจุอ่าง เป็นน้ำใช้การได้ 37,737 ล้านลูกบาศก์เมตร มั่นใจเพียงพอใช้เลี้ยงพืชโครงการนี้ตลอดจนถึงระยะเวลาเก็บเกี่ยว 

        ด้าน นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ผลผลิตทั้งหมดมีผู้รับซื้อแน่นอน กระทรวงเกษตรฯ ได้เจรจากับภาคเอกชนให้เข้ามารองรับผลผลิตทั้งหมด โดยบริษัทที่รับซื้อจะดูแลตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมแปลงปลูกและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต จากนั้นจะใช้กลไกสหกรณ์เข้าไปรับซื้อผลผลิตรวบรวมส่งขายให้บริษัทที่เป็นคู่สัญญากับกระทรวงเกษตรฯ พื้นที่ส่วนใหญ่จะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งยังไม่เพียงพอใช้ในประเทศ รับประกันราคากิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 5 บาทที่ความชื้น 30% ซึ่งเกษตรกรจะมีรายได้ประมาณไร่ละ 7,500 บาท หักต้นทุนจะเหลือกำไร 4,000 บาท เมื่อเทียบกับการปลูกข้าวจะมีรายได้มากกว่า 2,000 บาท เนื่องจากการปลูกข้าวมีต้นทุนสูงกว่า เชื่อว่าจะช่วยยกระดับรายได้ของเกษตรกรเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580)