วศ. จับมือสถาบันการศึกษา เปิด "วิทย์แก้จน OTOP นครพนมสร้างชาติ"

         กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด "วิทย์แก้จน OTOP นครพนมสร้างชาติ" ในพื้นที่จังหวัดนครพนม โดยมี นางสาวอุราวรรณ อุ่นแก้ว รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ พร้อมด้วย นางสาวลดา พันธ์สุขุมธนา ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมวิทยาศาสตร์บริการ และคณะ ร่วมเปิดงาน และ รศ.ดร.ชนินทร์ วะสีนนทน์ ที่ปรึกษามหาวิทยาราชภัฏสกลนคร กล่าวรายงาน ในระหว่างวันที่ 12-13 กันยายน ณ พิพิธภัณฑ์และหอสมุดเมืองนครพนม เทศบาลเมืองนครพนม มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ 110 กลุ่ม
         นางสาวอุราวรรณ อุ่นแก้ว กล่าวว่า โครงการนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้นโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ต้องการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ไปช่วยกระตุ้นและสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ มาพัฒนากลุ่มพื้นที่ 10 จังหวัด เป้าหมาย ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตาก น่าน ชัยนาท นครพนม กาฬสิทธุ์ อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ ปัตตานี นราธิวาส เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทผ้า และผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร โดยมีเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการดำเนินงานโครงการยกระดับ OTOP(Bigrock) ให้ประสบความสำเร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด

         สำหรับพื้นที่จังหวัดนครพนม กรมวิทยาศาสตร์บริการได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครในการดำเนินงานโครงการฯ เป็นโครงการที่มีการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ในเรื่องต่างๆ เช่น ย้อมสีธรรมชาติ สีไม่ตก สีสด ลายผ้า บรรจุภัณฑ์ เทคนิคการขาย ฯลฯ เพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ OTOP ตลอดจนพัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ รวมทั้งเพื่อผลักดันและสนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปพัฒนากระบวนการผลิต และยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์

         การจัดงานในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมตลาดให้ผู้ประกอบการนำผลิตภัณฑ์หลังการพัฒนามาทดสอบตลาด ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครจึงได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด "วิทย์แก้จน OTOP นครพนมสร้างชาติ" กิจกรรมในงานประกอบไปด้วยการจัดแสดงสินค้า การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เพื่อยกระดับสินค้า OTOP โดยคาดหวังว่าผู้เข้าร่วมงานจะได้ซื้อสินค้า OTOP ที่มีคุณภาพ และเห็นถึงความสำคัญของการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี และพัฒนาเข้าสู่การเป็นห่วงโซ่ที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศต่อไป

ที่มา กรมวิทยาศาสตร์บริการ