เก็บน้ำไว้หน้าแล้ง สทนช.วางแผนลดระบายน้ำเขื่อนภูมิพล-เขื่อนสิริกิติ์

         ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนหลัก 2 เขื่อน คือ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาว่า สำหรับเขื่อนภูมิพลไม่มีปัญหา เพราะมีปริมาณน้ำเพียง 62% ของความจุ ยังสามารถรับน้ำได้อีกจำนวนมาก ส่วนเขื่อนสิริกิติ์แม้จะมีปริมาณน้ำในเขื่อนมากถึงระดับ 80% แต่ถ้าดูแนวโน้มปริมาณฝนแล้วเชื่อว่า น่าจะยังพอรับน้ำได้อีก
         "ทุกวันนี้ก็ลดปริมาณการระบายของทั้ง 2 เขื่อนอยู่แล้ว เพื่อกักเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด แต่หลังจากวันที่ 15 กันยายนไปแล้ว หากเป็นไปตามคำคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาที่ว่าปริมาณฝนจะน้อยลงมาก อาจให้ลดการระบายน้ำลง โดยเก็บน้ำไว้ให้มากที่สุด เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับฤดูแล้งที่จะมาถึงในเดือนพฤศจิกายนนี้"
         สำหรับพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า เท่าที่ตรวจสอบข้อมูลและแนวโน้มปริมาณน้ำแล้ว น้ำจากภาคเหนือจะค่อยๆ ลดลง แต่อาจมีฝนตกในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาเอง ซึ่งมีโอกาสที่อาจท่วมขังในบางส่วนได้บ้าง โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำที่เตรียมการใช้เป็นแก้มลิงชั่วคราวอยู่แล้ว แต่โดยภาพรวมไม่ถึงกับรุนแรง

         ทั้งนี้ วางแผนระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท โดยใช้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นทางหลักในการระบาย เนื่องจากเป็นเส้นตรงและระบายได้เร็วอยู่แล้ว ส่วนคลองส่งน้ำด้านตะวันตก เช่น คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง แม่น้ำท่าจีน และคลองด้านตะวันออก เช่น คลองชัยนาท-ป่าสัก จะใช้ระบายบ้างไม่เต็มที่ เนื่องจากเกรงน้ำจะไปค้างอยู่ในคลอง ระบายได้ช้า จนอาจเกิดปัญหาน้ำเอ่อท่วมพื้นที่ได้ ประกอบกับช่วยเป็นเส้นทางระบายน้ำจากลุ่มน้ำนครนายกอีกทางหนึ่งด้วย
         เลขาธิการ สทนช. ยังกล่าวด้วยว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนก็วางแผนปรับลดการระบายน้ำเช่นกัน จากปริมาณฝนที่เริ่มลดลงตั้งแต่กลางเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ ในขณะเดียวกัน อ่างเก็บน้ำที่ยังมีปริมาณน้ำน้อยกว่า 60% ของความจุนอกจากวางแผนกักเก็บน้ำแล้ว ยังให้เติมน้ำโดยประสานกับกรมการฝนหลวงและการบินเกษตรอีกด้วย