ชาวนาลำโดมน้อย พึ่งตนเอง! ตั้งกองทุนจัดหาค่าสูบน้ำไม่ง้อรัฐ

 

 

     ระเบียบกรมชลประทาน ว่าด้วยการสูบน้ำช่วยค่ากระแสไฟฟ้าให้เกษตรกรในพื้นที่ชลประทานนั้น ระบุช่วยเหลือเพียง 1 ฤดูเท่านั้น นอกจากนั้นเกษตรกรก็ต้องลงขันจ่ายค่าไฟฟ้ากันเอง ในฤดูฝนอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก อาจติดขัดกรณีฝนทิ้งช่วงไปบ้างก็ถือเป็นระยะสั้น แต่ฤดูแล้งที่ทำนาปรัง ชื่อฤดูบ่งชัดว่าแล้ง ฝนฟ้าแทบไม่มี เกษตรกรก็เลือกใช้บริการกรมชลประทานในฤดูนี้ทั้งสิ้น

      โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโดมน้อย อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบราชธานี ซึ่งอาศัยแหล่งน้ำต้น ทุนจากเขื่อนสิรินธร กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงเงียบๆแต่สั่นสะเทือนยิ่งใหญ่ เมื่อมีผู้อำนวยการโครงการฯ คนใหม่ นายสุพัฒน์ ฤทธิชู มากับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

      เป็นคนเดียวกับผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ ผลงานก่อนลุกขึ้นจากตำแหน่ง นอกจากการระดมกองทุนผ้าป่าข้าวเปลือกสำหรับการส่งน้ำแล้ว ก็เป็นโครงการลำนางรองแห่งเดียวที่เอากระชังปลาออกจากทางน้ำชลประทานได้ เมื่อคนเลี้ยงปลาผิดข้อตกลงที่จะยกเลิกการเลี้ยงปลากระชังภายในกำหนด โดยดื้อแพ่งขอเลี้ยงต่อ พร้อมขออาศัยคำสั่งศาลเป็นเครื่องชี้ขาด ซึ่งศาลเพิ่งมีคำพิพากษาลงโทษ ทั้งจำทั้งปรับ โดยรอลงอาญา

      มาเป็นผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโดมน้อย พื้นที่โครงการเป็นที่สูง ต้องใช้วิธีสูบน้ำอย่างเดียว ปกติเกษตรกรก็อาศัยกรมชลประทานในการสูบน้ำอย่างเดียวเหมือนอย่างที่เคยทำมา ต่อเมือมารับตำแหน่งไม่กี่วันก็เรียกประชุมเกษตรกรในพื้นที่โครงการส่งน้ำฯ แทบจะยังไม่ทันได้ไหว้ครู

     “ผมบอกเกษตรกรไปว่า ถ้าโรงพักถูกโจรปล้น สถานีดับเพลิงถูกไฟไหม้ ข้าวนาปีในเขตชลประทานยืนต้นตาย ชาวบ้านจะพึ่งใคร?”

    “ไม่ต้องคิดถึงการพึ่งคนอื่นเลย แม้กระทั่งกรมชลประทาน แต่คนในพื้นที่ชลประทานควรคิดพึ่งพาตัวเองดีที่สุด” ...นั่นคือที่มาของกองทุนผ้าป่าข้าวเปลือก

      ชั่วเวลาป่าวประกาศสั้นๆ ไม่กี่วัน ระดมได้ทั้งเงินสดก้อนหนึ่งและข้าวเปลือก 1,037 กระสอบ หรือประมาณ 31,110 กิโลกรัม ทั้งเงินสดและข้าวเปลือกที่ขายเป็นเงินสดรวมเป็นตัวเลขกลมๆ 270,000 บาท สำหรับฝนทิ้งช่วงในฤดูฝน

      ไม่ต้องพึ่งใครแล้วสำหรับค่าสูบน้ำ ซึ่งฤดูฝนนี้อาจไม่ต้องใช้จ่าย แต่เอาไปใช้เพื่อการอื่นที่เกี่ยวข้องได้ เช่น ลอกคูคลองหรือตัดหญ้า เดิมกินน้ำเปล่าก็เป็นน้ำอัดลม น้ำผลไม้ หรือนมสดตามแต่จะบำรุงใจให้แช่มชื่น ...“เงินกองทุนจะกลับไปอยู่ในกลุ่มผู้ใช้น้ำ ใครลงขันเท่าไหร่ก็กลับไปเท่านั้น ดูแลกันเอง”

      ยังไม่ทันสิ้นฝน นายสุพัฒน์คิดวางแผนไว้แล้วว่า พื้นที่นาปรังลำโดมน้อย 1 แสนไร่ ถ้าผลผลิตเฉลี่ย 400 กิโลกรัม/ไร่ หรือประมาณ 11 กระสอบ ถ้าจัดตั้งกองทุนผ้าป่าข้าวเปลือก แล้วให้แต่ละคนบริจาคลงขันไร่ละ 1 กระสอบ จะได้ข้าวเปลือก 1 แสนกระสอบ หรือ 3 ล้านกิโลกรัม เฉลี่ยราคากิโลกรัมละ 10 บาท จะมีเงินเข้ากองทุนฯ 30 ล้านบาท

      “เงินกองทุนจะสามารถดูแลตัวเองได้ทั้งนาปรังและนาปีในฤดูกาลหน้าได้อย่างสบาย นาปรังแต่ละฤดูใช้ไปราวๆ 15 ล้านบาท ยังเหลือ 15 ล้านบาท ยังไงก็ใช้ไม่หมด เพราะมีฝนลงมาอยู่แล้ว” นายสุพัฒน์กล่าว

       เหตุที่ปรับเปลี่ยนจากการระดมทุนด้วยเงินสดกับข้าวเปลือกมาเป็นข้าวเปลือกอย่างเดียว นายสุพัฒน์เล่าว่า ถ้าต้องควักกระเป๋าเป็นเงินสด เกษตรกรจะอิดออดเสียดาย แต่ถ้าเสียไก่เป็นตัว หรือเสียข้าวเป็นกระสอบ เขายินดีและไม่รู้สึกกังวลใจ

       กระบวนการมีส่วนร่วมในงานชลประทาน ไม่มีใครลอกเลียนแบบใครได้ แต่ละพื้นที่ก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันตามบริบทของชุมชน แต่จิตวิทยามวลชนก็เป็นความละเอียดอ่อนที่กลายเป็นตัวจุดประกายให้เกษตรกรเห็นถึงทางออกของตัวเอง โดยไม่ต้องคิดพึ่งพิงแต่ส่วนราชการเพียงอย่างเดียว บางครั้งล่าช้า ยุ่งยาก ไม่ทันใจ สู้มีทรัพยากรเงินทุนเป็นของตัวเองก็เท่ากับควบคุมการผลิตได้ระดับหนึ่งแล้วและเป็นระดับสำคัญที่จะยกระดับชุมชนให้เข้มแข็งตามมา..“ไม่มีชุมชนใดแข็งแรงจากการพึ่งพาหน่วยงานรัฐตลอดเวลา”

      นาปรังหน้า เกษตรกรในโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโดมน้อย แม้จะต้องหยอดกระปุกด้วยข้าวเปลือกคนละ 1 กระสอบ/ไร่ แต่นั่นคือการเสริมความแข็งแรงให้กับชุมชนในการสูบน้ำเพิ่มผลผลิตให้กับตัวเอง โดยไม่ต้องรอใครอีกแล้ว