ตอบโจทย์จัดรูปที่ดิน 4.0 ด้วยคำตอบแค่ปลายนิ้วมือ

ตอบโจทย์จัดรูปที่ดิน 4.0
ด้วยคำตอบแค่ปลายนิ้วมือ
โดย ปรีชา อภิวัฒนกุล

         นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ไม่ใช่เรื่องที่พูดกันไปเพียงแค่ให้ดูสวยหรู แต่เป็นความพยายามของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้พัฒนาก้าวหน้า โดยการใช้เทคโนโลยีทันสมัยมาเป็นตัวช่วย เพื่อให้เกิดประโยชน์หลายๆ ด้าน เช่น การอำนวยความสะดวกรวดเร็ว การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การลดต้นทุน และฯลฯ
         เมื่อเป็นนโยบายแต่ละหน่วยก็ต้องมานั่งทำ 4.0 ของตัวเอง
         สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน ก็เหมือนหน่วยงานอื่นที่ต้องปรับปรุงระบบงานให้เป็นจัดรูปที่ดิน 4.0 เช่นกัน
         นายประเมษ ชูสิน ผู้อำนวยการกองทุนจัดรูปที่ดิน สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กล่าวว่า กองทุนจัดรูปที่ดินได้ดำเนินการปรับปรุงพัฒนาระบบฐานข้อมูลของกองทุนฯ โดยจัดทำโปรแกรมประยุกต์บนเว็บไซต์ สำหรับการจัดเก็บข้อมูลจัดรูปที่ดินบนระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลกองทุนฯ กับข้อมูลแผนที่แปลงที่ดิน
         "แต่ข้อมูลแผนที่แปลงที่ดินในเขตจัดรูปที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในรูปเอกสาร ทำให้ไม่สามารถเชื่อมโยงกับข้อมูลกองทุนฯ ในระบบฐานข้อมูลได้ เป็นโจทย์ที่ต้องแก้ไขซึ่งขณะนี้ได้จัดหาผู้ดำเนินการเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว"
         การเชื่อมข้อมูลกองทุนฯ กับข้อมูลแผนที่แปลงที่ดิน จะช่วยให้กองทุนฯ บริหารหนี้ และลูกหนี้ ตลอดจนเร่งรัดการออกโฉนดได้ดียิ่งขึ้น

         นายประเมษกล่าวว่า ที่ผ่านมากองทุนฯ จัดเก็บข้อมูลกองทุนฯ ในรูปเอกสารเช่นกัน และพัฒนามาจัดเก็บในรูปข้อมูลอีเล็กทรอนิคส์ ซึ่งมีความคล่องตัวในระดับหนึ่ง แต่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพให้มากยิ่งขึ้น ด้วยการเก็บข้อมูลแผนที่แปลงที่ดินในโครงการจัดรูปที่ดินทั่วประเทศเข้ามาเชื่อมต่อกัน
         "ทำให้เห็นภาพโชว์ได้ชัดเจนเลยว่า เกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฯ อยู่แปลงไหน โครงการอะไร เป็นหนี้กองทุนเท่าไร ประเภทการชำระ คงเหลือหนี้เท่าไร หรือขาดการชำระ และฯลฯ ทำให้กองทุนฯ สามารถบริหารหนี้ได้ดียิ่งขึ้น ลดเวลาที่สูญเสียจากการค้นหาเอกสารน้อยลง"
         นอกจากนั้น ยังช่วยให้กองทุนฯ มองเห็นภาพรวมได้ชัดเจน สามารถวางแผนการจัดการหนี้ได้ดีขึ้น รวมถึงการติดตามเร่งรัดการออกโฉนดแปลงที่ดิน ซึ่งหมายถึงรายได้ของกองทุนฯ ที่จะได้จากเกษตรกรที่อยู่ในโครงการ
         "ที่ผ่านมา จะรู้ตัวเลขแปลงที่ดินจัดรูปที่ออกโฉนดต้องไปค้นจากแบบก่อสร้าง ซึ่งยุ่งยาก เสียเวลา ไม่สะดวกในการใช้งาน ต่อไปเมื่อมีการออกโฉนดแปลงใหม่ ก็จะบันทึกข้อมูลและไปปรากฏในระบบฐานข้อมูล GIS เลย เปิดระบบดูสามารถเห็นได้เลยว่า โครงการจัดรูปมีกี่แปลง มีแปลงไหนบ้างที่ออกโฉนดหรือยังไม่ออก เราก็จะได้เร่งรัดให้ออกรวดเร็วขึ้น ทำให้สามารถแจ้งหนี้ให้เกษตรกรชำระสดหรือผ่อนชำระ รายได้ก็จะกลับมาที่กองทุนฯ เร็วขึ้นด้วย"
         นอกจากนี้ ในอนาคตอันใกล้เกษตรกรลูกหนี้สามารถทำธุรกรรมกับกองทุนฯ ได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ไม่ว่าการขอตรวจสอบสภาพหนี้ การชำระหนี้ การแจ้งขอโอนกรรมสิทธิ์แปลงที่ดิน เป็นต้น เพราะข้อมูล ในอดีตต่างๆ อยู่ในระบบฐานข้อมูลทั้งหมดแล้ว

         อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้กองทุนฯ กำลังเร่งเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลระหว่างข้อมูลกองทุนฯ กับข้อมูลแผนที่แปลง ซึ่งมีบางโครงการที่ยังเป็นอุปสรรคปัญหาอยู่บ้าง เพราะจัดทำระบบมาตรฐานข้อมูลต่างกัน ต้องปรับแก้ให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน แล้วแปลงสู่ระบบฐานข้อมูล GIS ต่อไป
         แม้จะเป็นเพียงงานหนึ่งในหลายๆ งาน แต่จะเห็นถึงความจำเป็นในการปรับตัวในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ เพื่อพัฒนางานบริหารลูกหนี้ของกองทุนจัดรูปที่ดินให้เกิดประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์ยิ่งกว่าเดิม โดยเฉพาะกองทุนจัดรูปที่ดินที่มีการขยายโครงการทุกปี มีจำนวนลูกหนี้สะสมมากขึ้นทุกปี ในขณะเดียวกันต้องบริหารหนี้ให้ดี ในฐานะเป็นของหลวงที่ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้
         การประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ท่ามกลางเสียงท้าทายและคำปรามาส อีกด้านหนึ่งก็จะเห็นส่วนราชการต่างๆ เร่งพัฒนา ปรับปรุงตัวเองอย่างขนานใหญ่ ซึ่งจะเป็นผลดีและเกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยในอนาคตอย่างแน่นอน
         เพราะเพียงแค่ปลายนิ้วมือที่ค้นหา ข้อมูลคำตอบก็จะปรากฏตรงหน้าในช่วงเวลาสั้นๆ ช่วยให้การบริหารจัดการข้อมูลหลายๆ อย่างง่ายขึ้น