ชลประทานที่ 10 เตรียมพื้นที่รับน้ำหลาก 5 จังหวัด 2.9 แสนไร่ (ชมคลิป)

         รายงานข่าวแจ้งว่าเมื่อเวลาประมาณ 11.30 น.ของวันที่ 1 กันยายน 2561 ที่ประตูระบายน้ำโพธิ์เก้าต้น หมู่ที่ 9 ตำบลโพธิ์เก้าต้น อำเภอเมือง ลพบุรี นายอนุสรณ์ ตันติวุฒิ ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักชลประทานที่ 10 นำคณะวิศวกร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายบำรุงรักษาตรวจสภาพความพร้อมประตูระบายน้ำ เพื่อรับมือฤดูน้ำหลาก
         นายอนุสรณ์ ตันติวุฒิ ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักชลประทานที่ 10 กล่าวว่า ตามที่ อธิบดีกรมชลประทานมีคำสั่งการให้ทุกสำนักชลประทานที่มีพื้นที่ลุ่มต่ำ ตรวจสอบและตรวจซ่อมสภาพอาคารในพื้นที่ลุ่มต่ำ เป็นทางรับน้ำ หรือใช้เป็นอาคารควบคุมน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ มีความมั่นคงแข็งแรงพร้อมใช้งานหรือไม่ ลวดสลิงให้มีความพร้อมในการใช้งาน ถ้าหากมีสิ่งใดที่จะต้องแก้ไขปรับปรุง ก็ให้เร่งดำเนินการแก้ไข ก่อนที่จะเข้าช่วงฤดูรับน้ำหลากเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำ

         "โดยฤดูน้ำหลากเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำถูกกำหนดช่วงเวลาเอาไว้คือช่วงกลางเดือนกันยายนจนถึงปลายเดือนกันยายนนี้ ซึ่งทางกรมชลประทานวางแผนเอาไว้ว่าจะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำทั้ง 6 แห่งของสำนักชลประทานที่ 10 ช่วยรับน้ำและพักน้ำไม่ให้กระทบกับพื้นที่ทางตอนล่าง ซึ่งมีพื้นที่ทุ่งเชียงราก อำเภออินทร์บุรี สิงห์บุรี, ทุ่งบ้านหมี่ท่าวุ้ง อำเภอท่าวุ้ง, อำเภอบ้านหมี่ ลพบุรี (ทุ่งฝั่งซ้าย), ทุ่งบางกุ่ม อำเภอบางปะหัน พระนครศรีอยุธยา, ทุ่งบางบาล อำเภอบางบาล พระนครศรีอยุธยา, ทุ่งบางกุ้ง อำเภอป่าโมก อ่างทอง รวมแล้วสามารถรับน้ำได้ 554 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยพื้นที่ทั้ง 6 แห่งคิดเป็นพื้นที่ 290,000 ไร่ เพื่อไม่ให้เข้าท่วมกรุงเทพมหานคร" นายอนุสรณ์ กล่าว

         ทั้งนี้ที่ประตูระบายน้ำโพธิ์เก้าต้นนี้ เป็นประตูระบายน้ำที่กั้นแม่น้ำลพบุรี ซึ่งเป็นประตูระบายน้ำหลักที่ควบคุมปริมาณน้ำในการปล่อยเข้าสู่พื้นที่ลุ่มต่ำของทุ่งท่าวุ้ง เพื่อให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยจะควบคุมปริมาณน้ำให้มากเกินไปเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ ซึ่งได้ตรวจสอบบานระบาย ลวดสลิง ระบบควบคุม ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน
         ต่อมาได้มีชาวบ้านเข้ามาร้องเรียนถึงการระบายน้ำของประตูระบาน้ำโพธิ์เก้าต้น ที่ส่งผลให้ริมตลิ่งถูกน้ำเซาะทำให้ดินสไลด์หายไป โดย ร.ต.สวิท สิงโต บ้านเลขที่ 74 /2 หมู่ 9 ตำบลโพธิ์เก้าต้น อำเภอเมือง ลพบุรี กล่าวว่า บ้านของตนและชาวบ้านข้างเคียงอยู่บริเวณท้ายประตูน้ำโพธิ์เก้าต้น ในเวลาที่มีการเปิดประตูระบายน้ำ ทำให้น้ำเซาะดินสไลด์จนเกือบจะถึงบ้าน ซึ่งก่อนหน้านี้ประมาณ 2-3 ปีก่อนทางชลประทานได้นำเข็มไม้มาตอกบริเวณตลิ่งให้แต่ก็ผุพัง ส่งผลให้ดินสไลด์อยู่ โดยที่ส่งผลกระทบกับชาวบ้านตลอดระยะทางกว่า 100 เมตร โดยพยายามเอาต้นไม้มาปลูกเพื่อชะลอการทรุดตัวของดินแต่ก็ไม่หาย

         สำหรับเรื่องดังกล่าว ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักชลประทานที่ 10 ชี้แจงว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการแก้ไขแล้วแต่ว่า แต่ก็ยังมีการทรุดตัวของดินอย่างต่อเนื่อง ยิ่งน้ำมามากก็จะยิ่งทำให้ตลิ่งทรุดและพังไปเรื่อยๆ เบื้องต้นจะรับเรื่องร้องทุกข์นี้ไว้แล้ววางแผนออกแบบการป้องกันการกัดเซาะของน้ำจากการระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำโพธิ้เก้าต้น ที่เป็นประตูน้ำกลางแม่น้ำลพบุรี เพราะเนื่องจากว่าเมื่อมีการระบายน้ำผ่านประตู น้ำจะมุ่งไปทางทิศตะวันตกส่งผลให้ตลิ่งถูกกัดเซาะและสไลด์พัง โดยจะหาทางช่วยเหลือชาวบ้านให้เร็วที่สุด

 

สรศักดิ์ ทับทิมพราย รายงาน