เกษตรกรสนใจล้างหนี้ ขึ้นทะเบียนหนี้ที่ กฟก. ภายใน 13 ต.ค.นี้

 

      รุงเทพฯ - นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่การเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ (กฟก.) กล่าวว่า ได้ข้อสรุปแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรที่จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบ โดยจากเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่มีหนี้เสีย (NPL) 468,000 ราย มูลหนี้ 85,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ตั้งแต่ปี 2549-2557 ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่กู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 36,000 ราย มูลหนี้ 12,000 ล้านบาท เป็นเงินต้น 6,000 ล้านบาท และดอกเบี้ย 4,000 ล้านบาท 

       ทั้งนี้ ได้มีการพิจารณาสภาพหนี้ตามข้อกำหนดที่ กฟก.จะรับซื้อหนี้มาบริหารจัดการได้ โดยต้องมียอดหนี้ไม่เกิน 2,500,000 บาท อีกทั้ง ต้องเป็นหนี้ที่เกิดจากการทำเกษตรกรรมและมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ปรากฎว่ามีเพียง 239 รายเท่านั้นที่อยู่ในเกณฑ์ มูลหนี้ 106 ล้านบาท ซึ่งทาง ธ.ก.ส.ตัดต้นให้ครึ่งหนึ่ง จึงเหลือเงินที่ กฟก.ต้องขอจากรัฐบาลเพื่อนำมาซื้อหนี้ 53 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเจรจากับ ธ.ก.ส.ขอปรับโครงสร้างหนี้ของเกษตรกรให้ตัดต้นหนี้ให้ร้อยละ 50 พักดอกเบี้ยเก่าให้ จากนั้นเกษตรกรผ่อนชำระหนี้ที่เหลืออีกร้อยละ 50 ภายใน 15 ปี โดยระหว่างนี้ ธ.ก.ส.คิดดอกเบี้ย MRR-ร้อยละ 3 หรือประมาณร้อยละ 4 สำหรับลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์อื่นมีกว่า 600 ราย เป็นเงิน 500 ล้านบาท อยู่ในเกณฑ์ที่ กฟก.จะซื้อหนี้ประมาณ 100 ราย ส่วนลูกหนี้สหกรณ์มี 580 ราย ยอดเงิน 390 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีหนี้ของธนาคารออมสินและธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) รวมกว่า 2,000 ราย

       พร้อมกล่าวว่า กำลังเจรจากับธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เช่น ธนาคารออมสิน ธอส.และสหกรณ์ในการปรับโครงสร้างหนี้ โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกับ ธ.ก.ส. ส่วนหนี้ที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของ กฟก.ได้แก่ หนี้ที่เกิน 2,500,000 บาท เป็นหนี้ที่ไม่ได้กู้เพื่อไปทำการเกษตร รวมทั้งหนี้ที่ใช้บุคคลค้ำประกัน ขณะนี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาตรวจสอบแล้วให้ความเห็นว่า กฟก.ไม่สามารถซื้อหนี้มาบริหารจัดการได้ 

       รมว.เกษตรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ กฟก.เปิดให้เกษตรกรที่มีหนี้สินสะสม ซึ่งยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ เร่งขึ้นทะเบียนหนี้เกษตรกรจนถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2561 โดยยื่นคำขอได้ที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรในจังหวัดที่องค์กรเกษตรกรตั้งอยู่ในวันทำการด้วยตนเอง ซึ่งเอกสารที่ใช้ประกอบคำขอมีดังนี้ คำขอขึ้นทะเบียนหนี้เกษตรกรตามแบบที่สำนักงานกำหนด สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หลักฐานแห่งหนี้ เช่น สัญญาจำนอง สัญญากู้ยืม หรือสมุดบัญชีเงินกู้ กรณีที่เกษตรกรมีหนี้เร่งด่วน ให้เกษตรกรยื่นคำขอจัดการหนี้เร่งด่วนคราวเดียวกัน โดยแนบเอกสารคำฟ้อง หรือคำพิพากษา หรือคำบังคับคดี ตามแต่กรณี.