เกษตรฯ แต่งตั้ง "อ.ยักษ์" เผยแพร่วิถีเกษตรกรรมยั่งยืน

         จากการที่ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ "อาจารย์ยักษ์" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศเจตนารมณ์จะส่งเสริมการทำเกษตรแบบยั่งยืน ไม่พึ่งสารเคมี เนื่องจากกังวลเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมนั้น
         ล่าสุด นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ซึ่งดูแลเกษตรกรและผลผลิตทางการเกษตรมีแนวปฏิบัติเป็นทางเดียวกัน คือ ต้องการให้เกษตรกรมีสุขภาพดีและปลอดภัย ส่วนผลผลิตทางการเกษตรมีคุณภาพและปราศจากสารปนเปื้อน ดังนั้น จึงจะแต่งตั้งนายวิวัฒน์ เป็นประธานคณะทำงานศึกษาและเผยแพร่วิถีเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรเห็นว่าการทำเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมีทำได้ ซึ่งจะนำไปสู่การลด ละ และเลิกใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชในที่สุด
         รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ทางกระทรวงได้ปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย เนื่องจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานมีมติให้กระทรวงเกษตรฯ ทำแผนจำกัดการใช้สารพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ทำแผนจำกัดการนำเข้าและควบคุมการใช้ไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตรายแล้ว จากเดิมนำเข้าปีละ 3-5 หมื่นตัน ให้ลดเหลือ 1.3-1.5 หมื่นตัน อีกทั้งเกษตรกรที่จะใช้สารนี้ได้ต้องผ่านการฝึกอบรมและมีใบอนุญาตใข้ ส่วนแนวทางการกำกับดูแลให้เป็นไปตามแผนดังกล่าวยังไม่ได้กำหนด ขณะนี้รอผลกการพิจารณาของคณะกรรมการศึกษาแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีพิจารณาและให้ข้อสรุปที่กำหนดว่า จะแล้วเสร็จใน 60 วันออกมาก่อน หากมีมติออกมาว่า ให้ใช้ต่อได้หรือไม่ให้ใช้ ก็จะต้องออกกฎหมายมากำกับเพื่อให้เจ้าพนักงานปฏิบัติได้ถูกต้อง


         สำหรับวิถีเกษตรกรรมยั่งยืน ประกอบด้วย การทำเกษตรปลอดภัยจากสารพิษ (GAP) เกษตรอินทรีย์ (Organic)เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน และวนเกษตร ซึ่งนายวิวัฒน์ ได้ประกาศเจตนารมย์ชัดเจนว่าไม่ต้องการให้ใช้สารเคมีทำการเกษตร เนื่องจากมีผลวิจัยว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยจะอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ.2551 มาบังคับใช้ตามมาตรา 13 และ 15 ซึ่งว่าด้วยการห้ามกระทำการใด ๆ รวมถึงการทำให้เกิดการปนเปื้นของสารพิษที่เป็นอันตรายต่อดินหรือทำให้สภาพดินเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง