กำจัด!เพลี้ยกัดกินยอดอ่อนมะนาว-หนอนเจาะดอกมะลิ อย่างได้ผล

 

      กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรช่วงนี้ให้ระวังศัตรูพืช เนื่องจากช่วงนี้มีฝนฟ้าคะนองทั่วทุกภาค ดังนั้น ให้เจ้าของสวนมะนาวระวัง เพลี้ยไก่แจ้ส้ม ที่จะเข้ากัดกินใบและยอดอ่อน เช่นเดียวกับเกษตรกรเจ้าของสวนมะลิให้ระวัง หนอนเจาะดอก โดยมีคำแนะนำและแนวทางป้องกันดังนี้

         1.มะนาว ระวังเพลี้ยไก่แจ้ส้ม ข้อสังเกต : บริเวณตาหรือยอดอ่อนจะพบกลุ่มตัวอ่อนและมูลหวาน ซึ่งอาจพบเชื้อราดำปกคลุมอยู่ ยอดอ่อนที่ถูกทำลายจะหงิกงอ และเหี่ยวแห้ง หรือพบตัวเต็มวัยสีเทาส้มเกาะที่บริเวณยอดทำมุม 45 องศา

         แนวทางป้องกัน : หมั่นสำรวจเพลี้ยไก่แจ้ส้มทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย โดยการสุ่ม 5 ยอดต่อต้น 10-20 ต้นต่อสวน หากพบกลุ่มตัวอ่อนหรือตัวเต็มวัย 2-3 ตัวต่อยอดให้พ่นสารฆ่าแมลงอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 8 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร หรือไดโนทีฟูแรน 10% ดับเบิ้ลยูพีอัตรา 4 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือโคลไทอะนิดิน 16% เอสจี อัตรา 1 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือแลมบ์ดาไซฮาโลทริน 2.5% ซีเอส อัตรา 15 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร หรือแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน /ไทอะมีทอกแซม 14.1%/10.6% แซดซีอัตรา 4 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร

         2.มะลิ ระวังหนอนเจาะดอก ข้อสังเกต : ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆสีเหลืองบนกลีบดอก หรือก้านกลีบเลี้ยงและยอดอ่อน เมื่อฟักเป็นตัวหนอนจะเจาะเข้าไปกัดกินอยู่ภายในดอกทำให้ดอกเป็นรอยช้ำ เปลี่ยนเป็นสีม่วง เหี่ยวแห้งและร่วงหล่น

         แนวทางป้องกัน : เมื่อพบการระบาด พ่นด้วยสารฆ่าแมลง ได้แก่ ฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 40มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร หรือคลอร์ไพริฟอส 40% อีซี อัตรา 80 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร หากพบการระบาดให้พ่นสารทุก 4 วัน และไม่ควรพ่นสารฆ่าแมลงชนิดเดียวกันติดต่อกันหลายครั้ง เพราะจะทำให้แมลงสร้างความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงชนิดนั้นได้