สทน. เปิดยุทธการควบคุม "แมลงวันทอง" ด้วยการฉายรังสีทำหมัน

         สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เปิดตัวโครงการยุทธการปราบแมลงวันทองด้วยตรอกนองโมเดล โดยมี ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร ผู้ช่วยรัฐมนตรี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการ ที่รร.เซนทารา แอท เซนทรัลลาดพร้าว กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2561
         ดร.กัญญวิมว์ กล่าวว่า ปี 2560 ประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกผลไม้มากกว่า 40,000 ล้านบาท แต่เกษตรกรยังต้องเผชิญปัญหาศัตรูพืชเช่นแมลงวันผลไม้ที่ทำให้ผลไม้เน่าเสีย มีผลต่อคุณภาพการส่งออก หลายครั้งที่ผลผลิตถูกห้ามนำเข้าและต้องทำลายทิ้ง เกษตรกรส่วนใหญ่จะใช้สารเคมีในการกำจัดแมลงวันผลไม้ซึ่งไม่ค่อยได้ผลและทำให้ต้นทุนการผลิตสูง เมื่อใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานจะส่งผลให้สารเคมีตกค้าง เป็นปัญหาทางตรงและทางอ้อมต่อสุขอนามัยของเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

         กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สทน. ได้ศึกษาวิจัยและดำเนินการนำวิธีการทำหมันแมลงมาใช้กับการควบคุมกำจัดแมลงวันผลไม้แบบพื้นที่กว้างโดยเทคนิคการใช้
แมลงที่เป็นหมัน โดยเริ่มต้นที่พื้นที่ปลูกผลไม้ของ ต.ตรอกนอง อ.ขลุง จ.จันทบุรี เป็นแห่งแรกก่อนที่จะพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผสมผสานกับวิธีการอื่น จนประสบความสำเร็จ สามารถลดจำนวนประชากรแมลงศัตรูพืช ผลผลิตผลไม้จากตรอกนองมีคุณภาพ ปลอดภัยตามมาตรฐานการส่งออก ได้รับการยอมรับจากตลาดทั้งในและต่างประเทศ
         จากการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ณ จ.จันทบุรี ที่ผ่านมา ได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เดินหน้าโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยทางกระทรวงจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งเป้าในระยะเวลาโครงการ 10 ปี จะขยายพื้นที่ควบคุมแมลงวันทองด้วยเทคโนโลยีนิวเคลียร์ใน 10 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ตราด ชุมพร นครศรีธรรมราช พิษณุโลก ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา ขอนแก่น และราชบุรี ในปีงบประมาณ 2561-2570 รวมระยะเวลา 10 ปี จะช่วยเพิ่มผลผลิตการเกษตรในอนาคตกว่า 269,000 ตันต่อปี เป็นมูลค่ากว่า 5,300 ล้านบาท พร้อมกับขยายพื้นที่เป้าหมายต่อยอดไปทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มผลผลิตพืชและผลไม้ส่งออกสำคัญของประเทศ แและลดการใช้สารเคมีและแก้ไขปัญหาสารเคมีตกค้างอย่างมีประสิทธิภาพ ยกระดับผลไม้ไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลก เพิ่มรายได้ทางเศรษฐกิจและยังเพิ่มคุณภาพชีวิตและสุขอนามัยที่ดีของประชาชน


         ขณะที่ ดร.พรเทพ นิศามณีพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สทน. ได้ศึกษาวิจัยและนำวิธีการฉายรังสีทำหมันแมลงมาใช้กับการควบคุมกำจัดแมลงวันผลไม้แบบพื้นที่กว้าง โดยมีเทคนิคใช้แมลงวันที่ฉายรังสีจนมีสภาพเป็นหมัน โดยแมลงวันที่เป็นหมันจะไปผสมพันธุ์กับแมลงวันทองในพื้นที่สวนผลไม้เกษตรกร ทำให้ไม่เกิดประชากรแมลงวันทองขึ้นมาใหม่สามารถลดจำนวนแมลงวันทองได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และผลผลิตทางการเกษตรอีกด้วย ผลไม้ของตรอกนองยังได้รับการตรวจสอบคุณภาพได้มาตรฐานการส่งออก และเปิดตลาดส่งออกมังคุดไปประเทศสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตเพิ่มสร้างรายได้กว่า 4,800 ล้านบาทต่อปี ลดรายจ่ายจากสารเคมีได้กว่า 158,000 บาทต่อปี