บูรณาการแก้ไขปัญหาภัยจากน้ำ ภารกิจใหม่ สทนช. ในอนาคต

 

บูรณาการแก้ไขปัญหาภัยจากน้ำ
ภารกิจใหม่ สทนช. ในอนาคต
โดย ปรีชา อภิวัฒนกุล

         น้ำเต็มอ่างขนาดกลาง 50 แห่ง ขนาดใหญ่ระดับ 80-100% จำนวน 8 อ่าง
         มันช่างตรงกับสถานการณ์น้ำในลาวที่เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ประสบปัญหาจนเขื่อนแตก และทางการลาวต้องพร่องระบายน้ำในเขื่อนอื่นๆ ตามมา รวมทั้งจีนและพม่า ต่างเร่งพร่องน้ำจากเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงโดยตรงหรือเขื่อนที่ปิดกั้นลำน้ำสาขาที่ไหลลงแม่น้ำโขง
         ผลพวงของพายุเซินติญเพียงลูกเดียว ทำเอาข้อมูลพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาก่อนหน้านั้นต้องทบทวนใหม่ เพราะปริมาณฝนมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ
         ที่ยังไม่รู้แน่ชัด คือพายุจรที่เคยคะเนว่า มีเพียง 1-2 ลูกตามปกติ จะเป็นไปตามนั้นหรือไม่
         เป็นข้อจำกัดของวงการอุตุนิยมวิทยาทั่วโลกที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้ายาวนาน เป็นได้แค่ประมาณการ และรับรู้ล่วงหน้าเพียงไม่กี่วันเท่านั้น
         การบริหารจัดการน้ำในช่วงลมฟ้าอากาศผันผวนเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ปกติฝนจะตกหนักในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของฤดูฝน คือสิงหาคม-ตุลาคม แต่ปีนี้ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม-สิ้นเดือนกรกฎาคม ฝนตกไม่หยุดและอย่างต่อเนื่อง จึงไม่แปลกว่า หลายเขื่อนมีน้ำเต็มอ่างหรือใกล้เต็ม
         ในขณะที่แก่งกระจานมีฝนมากและน้ำไหลลงอ่างมาก แต่เขื่อนห้วยผากและเขื่อนแม่ประจันต์ที่เคยสร้างปัญหาน้ำท่วมเมืองเพชรบุรีเมื่อปีกลาย กลับมีฝนไม่มาก น้ำไม่มากสร้างปัญหาอย่างเคย ทั้งที่อยู่ใน จ.เพชรบุรีด้วยกัน
         ในขณะที่สถิติเดิมๆ ฝนจะตกหนักในช่วง 3 เดือนสุดท้าย (สิงหาคม-ตุลาคม) แต่สถานการณ์ที่ฝนตกตั้งแต่เดือนเมษายน จะเป็นไปได้ไหมว่า 3 เดือนสุดท้ายฝนอาจไม่มากเหมือนทุกครั้งของปี?
         รูปรอยของฝนเปลี่ยนไปมาก ตั้งแต่เดือนที่ฝนตก การตกแบบกระจุกมากกว่ากระจายตัว การตกแบบแช่นานๆ ในที่เดียวกัน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้การบริหารจัดการน้ำยากขึ้นเป็นลำดับ

         การจัดตั้ง "ศูนย์เฉพาะกิจจัดการน้ำก่อนวิกฤต" โดยคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้การกำกับการบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างเป็นระบบ โดยบูรณาการ 9 หน่วยงานเข้าด้วยกันเสมือนการนำร่องรูปแบบหรือโมเดลการแก้ไขปัญหาภัยจากน้ำ
         อันที่จริง ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะโจทย์ของสำนักงานทรัพยกรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ก็มีภารกิจนี้ด้วย หากอยู่ระหว่างเริ่มเพิ่งก่อตั้งหน่วยงาน และการบูรณาการด้านอื่นยังอยู่ระหว่างการสร้างความเข้าใจ ทั้งยุทธศาสตร์น้ำ แผนงาน โครงการ ตลอดจนงบประมาณ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาพื้นที่ที่เป็นช่องว่างระหว่างหน่วยงาน ไม่ว่าแม่น้ำพิจิตร บึงราชนก บึงบอระเพ็ด กระทั่งโครงการขนาดใหญ่ทั้งหลาย เป็นต้น
         แต่การบูรณาการข้อมูลน้ำก็ทำให้ สทนช. มีตัวเลขปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วประเทศ และความน่ากังวลให้นายกรัฐมนตรีได้พิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และลงท้ายด้วยการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจขึ้นมา ภายใต้การกำกับของ สทนช. เพื่อส่งผ่านข้อมูลและแผนดำเนินงานไปสู่รองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบและนายกรัฐมนตรีตามลำดับ
         เพราะการบริหารจัดการน้ำในกรณีนี้คือการเร่งพร่องน้ำในเขื่อนใหญ่อย่างเขื่อนแก่งกระจาน หรืออาจรวมความถึงเขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี นั้นไม่ใช่แค่การพร่องน้ำจำนวนมากอย่างเดียว หากยังรวมความถึงผลกระทบและความเดือดร้อนของของประชาชนในพื้นที่อันเนื่องมาจากปริมาณน้ำที่พร่องลงมาด้วย

         อย่างไรก็ดี เมื่อมีการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจขึ้นมา ทำให้รัฐบาลมีพื้นฐานข้อมูลชุดเดียวกันของทุกหน่วยงานเกี่ยวข้อง และสามารถตัดสินใจบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น ตลอดจนสามารถติดตามดูผลกระทบได้ดีกว่าเดิม
         เพราะต้องมีการเตือนภัย การเตรียมตัวป้องกันของประชาชนในระดับหนึ่ง และการเตรียมตัวรับมือของหน่วยงานเกี่ยวข้องในการดูแลปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน กระทั่งหน่วยงานฟื้นฟูดูแลหลังน้ำลด
         เป็นการบูรณาการแบบเห็นๆ มีการส่งลูก-รับลูกเป็นช่วงๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนทั้งผู้ประสบภัยโดยตรงหรือผู้เฝ้าเป็นห่วงกังวล
         โครงสร้างของศูนย์เฉพาะกิจอาจเป็นเฉพาะกิจในจุดเริ่มต้น แต่ทิศทางในอนาคต ศูนย์จัดการน้ำในยามวิกฤตน่าจะเป็นศูนย์ถาวร ไม่ต่างจากการบูรณาการด้านข้อมูลหรือด้านปฏิบัติการที่ สทนช. ดำเนินการอยู่