"พัฒนาหนองหานกุมภวาปี" การใช้ประโยชน์ทะเลสาบน้ำจืดใหญ่สูงสุด

พัฒนาหนองหานกุมภวาปี
การใช้ประโยชน์ทะเลสาบน้ำจืดใหญ่สูงสุด
โดย ปรีชา อภิวัฒนกุล

         หนองหานกุมภวาปี อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ได้ชื่อเป็นหนองหานน้อย ในขณะหนองหาร อ.เมือง จ.สกลนคร ได้ชื่อเป็นหนองหารหลวง
         ออกเสียงเหมือนกัน ตัวสะกดท้ายคำต่างกัน แต่ความหมายเหมือนกันคือแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ บึงสีไฟ จ.พิจิตร หรือกว๊านพะเยา จ.พะเยา
         แม้จะได้ชื่อเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ แต่การใช้งานประสิทธิภาพลดลงตามลำดับ ไม่ว่าการเก็บกักน้ำ การรับน้ำ การส่งน้ำหรือระบายน้ำ

         หนองหานกุมภวาปี เคยรับน้ำได้มากถึง 106 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบันรับได้สูงสุดเพียง 70 ล้านลูกบาศก์เมตร เกินจากนี้ก็ท่วมบริเวณรอบๆ หนองหาน
         กรมชลประทานรับถ่ายโอนฝายกุมภวาปี และพื้นที่ชลประทาน เมื่อปี 2545 จากกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ซึ่งก่อสร้างเมื่อปี 2539 ได้จัดตั้งโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากุมภวาปี จ.อุดรธานี ในปี 2553
         ความเสื่อมโทรมของฝายกุมภวาปี สถานีสูบน้ำและคลองส่งน้ำ ทำให้การบริหารจัดการน้ำหนองหานกุมภวาปีไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ซ้ำยังมีปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝน เนื่องจากระดับน้ำในหนองหานสูง ระบายน้ำได้ช้า และปัญหาภัยแล้ง เมื่อเกิดภาวะฝนตกน้อยหรือทิ้งช่วงนาน ส่งผลกระทบต่อการผลิตทางการเกษตร รวมถึงน้ำสำรองเพื่ออุปโภคบริโภค อุตสาหกรรมและระบบนิเวศ

        นอกจากปรับปรุงระบบส่งน้ำ ประกอบด้วยคลองส่งน้ำและอาคารควบคุมน้ำในคลองส่งน้ำแล้ว กรมชลประทานยังได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ดีไว พลัส จำกัด เป็นผู้ศึกษาความเหมาะสมในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการขาดแคลนน้ำ
         โจทย์ใหญ่คือทำอย่างไรให้หนองหานกุมภวาปีกลับคืนสู่ศักยภาพสูงสุดที่รับน้ำได้ 106 ล้านลูกบาศก์เมตรเป็นประการสำคัญ
         ลำพังการเก็บกักที่ 70 ล้านลูกบาศก์เมตรก็ประสบปัญหาน้ำท่วมพื้นที่รอบๆ หนองหานแล้ว ดังนั้น เมื่อต้องเพิ่มปริมาณน้ำอีก 36 ล้านลูกบาศก์เมตรไม่ให้ท่วมพื้นที่รอบหนองหานก็ต้องมีแนวทางโดยสรุปดังนี้
         1.เพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บในหนองหาน เป็น 106 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเดิมที่เก็บได้ 70 ล้านลูกบาศก์เมตร เกินกว่านี้น้ำจะท่วมรอบหนองหาน ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยติดตั้งประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำปากลำห้วย 8 สายที่ไหลลงหนองหาน ติดตั้งสถานีสูบน้ำใหม่ 9 แห่งเพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิม ซ่อมแซมอาคารระบายน้ำที่ชำรุด 33 แห่ง ขุดและปรับปรุงคูระบายน้ำรอบหนองหานความยาว 43 กิโลเมตร
         2.การปรับปรุงระบบส่งน้ำ โดยปรับปรุงประตูระบายน้ำกุมภวาปี โดยเฉพาะระบบการยกบานจากระบบไฮดรอลิกมาเป็นระบบโครงยกที่สะดวกกว่า เพิ่มระบบเก็บขยะหน้าประตูระบายน้ำ ปรับปรุงท้ายประตูระบายน้ำกุมภวาปีที่ชำรุด และติดตั้งสถานีวัดน้ำในจุดที่เหมาะสมสามารถวัดปริมาณการระบายน้ำให้ถูกต้อง
         3.การบริหารจัดการน้ำ เมื่อปรับปรุงและก่อสร้างอาคารดังกล่าวข้างต้น จะทำให้กรมชลประทานสามารถบริหารจัดการน้ำหนองหานให้เกิดประโยชน์สูงสุด กักเก็บน้ำได้ 106 ล้านลูกบาศก์เมตรในฤดูฝน โดยปิดประตูระบายน้ำที่ก่อสร้างในลำห้วย 8 แห่ง และปิดบานระบายของอาคารระบายน้ำรอบหนองหาน พร้อมทั้งควบคุมระดับน้ำนอกคันดินรอบหนองหานไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูก โดยสูบน้ำเข้าหนองหาน พร้อมทั้งควบคุมระดับน้ำในหนองหานด้วยประตูระบายน้ำกุมภวาปี

         น้ำส่วนที่เพิ่ม 36 ล้านลูกบาศก์เมตร จะเป็นน้ำต้นทุนในฤดูแล้ง เพื่ออุปโภคบริโภค การเกษตร การอุตสาหกรรมและรักษาระบบนิเวศ
         "ผลการศึกษาพบว่า เมื่อพัฒนาโครงการแล้วจะเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมได้อีก 20,000 ไร่ ลดพื้นที่น้ำท่วมได้ประมาณ 21,000 ไร่ เพิ่มน้ำสำหรับผลิตน้ำประปาปีละ 7 ล้านลูกบาศก์เมตร" นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กล่าว
         ส่วนข้อกังวลเรื่องทะเลบัวแดงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในหนองหานกุมภวาปีนั้น นายเฉลิมเกียรติกล่าวว่า แม้จะเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บจาก 70 ล้านลูกบาศก์เมตรเป็น 106 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็ไม่กระทบต่อการเจริญเติบโตของบัวแดงประการใด เพราะสามารถยืดตัวได้สูงถึง 4 เมตรเท่ากับระดับคันดินรอบหนองหาน
         การพัฒนาหนองหานกุมภวาปีมีความละม้ายกับการพัฒนาหนองหารสกลนคร เพื่อใช้ทะเลสาบน้ำจืดเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด