สร้าง"ดรีมทีม"เสริมทัพขับเคลื่อนศูนย์น้ำแห่งชาติ!

 

 

 

       สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ถือกำเนิดขึ้นมาช่วงปลายปี 2560 ...ไม่มีเวลาวางไข่ ฟักไข่ ตั้งไข่ คลอดแล้วต้องเดินได้ เอาชีวิตรอดได้ทันที! 

       ด้วยบทบาทภารกิจที่ต้องกำกับดูแล ทั้งนโยบาย แผนงาน โครงการ งบประมาณ ต้องบูรณาการ 38 หน่วยงาน 7 กระทรวงขับเคลื่อนเรื่องน้ำ ภายใต้กำลังคนเพียงแค่หยิบมือเดียว สถานที่คับแคบ อุปกรณ์ส่วนใหญ่ได้ของเก่าที่เขาโละให้มา ฯลฯ ..ดูเป็นหนังคนละม้วนกับความเป็นองค์กรน้ำแห่งชาติที่รัฐบาลมอบหมายภารกิจยิ่งใหญ่ให้ขับเคลื่อน ...ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ควรได้รับรู้ความจริงข้อนี้ ในฐานะผู้ทำคลอดมากับมือด้วยมาตรา 44

       ตรงกันข้าม การออกแบบองค์กรกับแรงสนับสนุนที่ไม่สมดุลกัน จะทำให้คนแค่หยิบมือเดียวเหล่านี้ ค่อยๆ หมดแรงกายและหมดใจกับภารกิจยิ่งใหญ่ระดับชาติ สุดท้าย สทนช.อาจไม่สามารถเป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการน้ำประเทศตามเจตนารมณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้

       ท่ามกลางความยากลำบากนี้ สำนักงานข้าราชการพลเรือน (กพ.) ยังเลือก สทนช.เป็นหน่วยงานแรกของโครงการพัฒนานักยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปประเทศเชิงบูรณาการ (Strategist Development Program) ...พูดเข้าใจง่ายๆ คือการสร้างนักยุทธศาสตร์ป้อน สทนช. 

       เหตุผลทางการคือเป็นองค์กรใหม่ ขาดแคลนกำลังคน แต่เหตุผลที่ลึกลงไปน่าจะเป็นด้วยลักษณะงานของ สทนช.เป็นหน่วยงานบูรณาการ และน่าจะเห็นความตั้งใจขับเคลื่อนขององค์กร โดยเฉพาะผู้นำ สทนช.อย่าง ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ที่สามารถผลักดัน สทนช.ให้เป็นตัวตนได้ในเวลาอันน้อยนิด ด้วยคนหยิบมือเดียวที่มีอยู่ แก่นแกนมาจากกรมชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำ ..ทว่า คนที่ต้องการตามโครงการนี้คือมันสมองที่จะเป็นดรีมทีมช่วยขับเคลื่อนองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ

       สทนช.เป็นส่วนราชการ แต่ทำงานไม่ต่างจากเอกชน ทำงานหนักแข่งกับเวลาที่มีตั้งแต่เรื่องเฉพาะหน้าใหญ่ๆ เช่น ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ยุทธศาสตร์น้ำประเทศทั้ง 20 ปี 12 ปี และ 5 ปี ไล่ไปจนกระทั่งการรับมือฤดูน้ำหลากที่กำลังมาถึง...อีกทั้ง ต้องคิดนอกกรอบ ต้องไปไกลในฐานะหน่วยงานกำกับหรือ Regulator ที่เข้าใจและรู้เท่าทันหน่วยงานปฏิบัติ หรือ Operator ที่ไม่เคยมีใครกำกับเช่นนี้มาก่อน

       นักยุทธศาสตร์จะหากันได้ที่ไหน กพ.เอง หรือ สทนช.ก็ไม่รู้ แต่ไม่ลองไม่รู้ จัดทำโครงการเสร็จประกาศรับสมัครข้าราชการพลเรือนเป็นนักยุทธศาสตร์ 14 คน ลุ้นว่าจะมากันกี่คน แต่ผิดคาดเพราะมาสมัครมากถึง 130 คน ..เพื่อนักยุทธศาสตร์ฯเหล่านี้สำหรับงาน 3 ด้านสำคัญ

       1.ยุทธศาสตร์น้ำที่ต้องเกี่ยวเนื่องกับมิติด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) และมิติด้านเศรษฐกิจและสังคม มากกว่าเรื่องน้ำโดดๆ โดยลำพัง ต้องชัดเจนในเป้าหมายและตัวชี้วัดให้ถึงผลสัมฤทธิ์

       2.คลังข้อมูล ซึ่งมีข้อมูลมากมาย เป็น Big Data ที่ชอบพูดกันเอิกเกริก แต่ยากจะหาคนชำนาญในการบริหารจัดการข้อมูลนี้ไปใช้ประโยชน์ด้านการบริหารจัดการน้ำได้อย่างจริงจัง ถ้าใช้เป็นจะเกิดคุณูปการสำหรับประเทศไทยอีกมากมาย ดังเช่นธุรกิจเอกชนทำมาแล้ว และ

       3.กฎหมาย เฉพาะ สทนช. มีร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ..... ที่ยังไม่สะเด็ดน้ำทีเดียว ต้องศึกษากรอบแนวคิด และร่างอนุบัญญัติหรือกฎหมายลูกออกมาอีกทอดหนึ่ง รวมถึงกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

       ภาพงานเหล่านี้ชี้ชัดว่า สทนช.ต้องการดรีมทีมแต่ละชุดมาดำเนินภารกิจเหล่านี้ให้สำเร็จลุล่วง เพราะล้วนเป็นทิศทางใหญ่ขององค์กรที่จะรองรับอนาคตของ สทนช.ทั้งสิ้น

       น่ายินดีที่คนสมัครเข้ามาเป็นนักยุทธศาสตร์เป็นคนหนุ่มสาวไฟแรง การศึกษาดี บางคนเป็นนักเรียนทุน เหตุผลหนึ่งที่มาสมัครคือ ต้องการทำงานที่ท้าทายความรู้ความสามารถ ซึ่งที่ทำงานเดิมอาจมีข้อจำกัดไม่สามารถเปล่งศักยภาพออกมาได้ แต่เวที สทนช.โจทย์ชัดเจนกว่า เปิดช่องได้มากกว่า ทั้งต้องการมุมมองนอกกรอบเพราะ สทนช.มีฐานะเป็น Regulator ต้องวางแผนการเล่นให้ Operator ได้ โดยประชาชน ประเทศชาติ คือผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดตามแผนที่วางไว้

       งานของ สทนช.จึงเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญที่ไม่อาจปล่อยให้ดิ้นรนกันเองแต่ลำพัง โดยเฉพาะรัฐบาลต้องสนับสนุนการทำงานอย่างเต็มที่

       อย่าลืมว่า สทนช.ก็เป็นหน้าตาของรัฐบาล ถ้าสำเร็จก็ถือเป็นผลงานที่สำคัญที่สามารถบริหารจัดการน้ำของประเทศที่เผชิญปัญหาแต่ละหน่วยงาน ต่างคน ต่างทำ มาโดยตลอด แต่หากไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างที่ตั้งใจไว้ รัฐบาลเองก็ต้องหันกลับมาทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นด้วย