12 แอพพลิเคชั่นที่เกษตรกรไทยยุคไอที 4.0 ต้องมี!

       ทุกวันนี้โลกของเรามีนวัตกรรมใหม่ๆ มาให้ใช้งานเยอะมาก ซึ่งได้ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการทำธุรกิจและชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี ไม่เว้นแม้แต่ในโหมดของเกษตรกรรม ที่เมื่ออดีตการจะหาความรู้เกี่ยวกับการเกษตรนั้นอาจต้องนั่งเปิดตำรา อ่านหนังสือเป็นเล่มๆ ทว่า ขณะนี้ในยุคที่เขาเรียกกันว่า 4.0 นั้น แค่เกษตรกรมีแอพพลิเคชั่น 12 แอพฯ ติดตัวไว้ การทำการเกษตรก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นอีกเยอะ ดังที่ศูนย์เอสเอ็มอี ธนาคารกรุงเทพฯ ได้นำเสนอไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

1.โรคพืชและศัตรูพืช (ProtectPlants)

       แอพพลิเคชั่นที่ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคพืชและศัตรูพืช มีฟังก์ชั่นที่หลากหลาย ทั้งด้านองค์ความรู้อารักขาพืช การวินิจฉัยศัตรูพืชเบื้องต้น การวินิจฉัยชนิดพืช พยากรณ์เตือนสภาพอากาศที่จะเกิดขึ้น อีกทั้ง ยังพยากรณ์เตือนการระบาดของศัตรูพืชที่อาจมีผลกระทบต่อการทำเกษตรของเราได้ เรียกได้ว่าเป็นแอพที่ครบเครื่องเรื่องการเกษตรและศัตรูพืชอย่างแท้จริง

2.การบริหารจัดการน้ำ (WMSC)

       แอพพลิเคชั่นนี้เป็นอีกแหล่งข้อมูลและนำเสนอข่าวสารในการบริหารจัดการน้ำ มีทั้งข้อมูลปริมาณน้ำฝน ข้อมูลปริมาณน้ำท่า ข้อมูลปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ข้อมูลอัตราการไหลของน้ำในแม่น้ำและคลองชลประทานต่างๆ โดยข้อมูลทั้งหมดนี้จะช่วยให้เกษตรกรเตรียมการรับมือกับภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นกะทันหัน ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียลงไปได้

3.ประมวลผลนับจำนวนเพลี้ยกระโดดในแปลงนา (InsectShot)

        InsectShot เป็นแพพลิเคชั่นที่ช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วจากการใช้โทรศัพท์มือถือของเกษตรกรถ่ายภาพเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในแปลงนาแทนการสุ่มนับด้วยคน โดยเมื่อถ่ายภาพเสร็จก็จะส่งภาพไปที่เครื่องแม่ข่าย ซึ่งจะประมวลผลนับจำนวนเพลี้ยกระโดดให้ทันที อย่างไรก็ตาม ในอนาคตยังมีโครงการที่จะพัฒนาโปรแกรมตรวจนับปริมาณเพลี้ยกระโดดที่เข้าไปในกับดักแสงไฟ เพื่อลดขั้นตอนการนับด้วยแรงงานคนอีกด้วย

4.เตือนภัยสภาพอากาศและการระบาดของศัตรูพืช (Rice Pest Monitoring)

        อีกหนึ่งสุดยอดแอพพลิเตชั่นที่มีระบบสนับสนุนการพยากรณ์และเตือนภัยของกรมการข้าว เพื่อแจ้งใช้ในการติดตาม เฝ้าระวัง และเตือนภัยล่วงหน้าก่อนที่จะเกิดการระบาด (Rice Pest Monitoring) ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคไหม้ และเป็นเครื่องมือที่นำไปประยุกต์ใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานให้กับเกษตรกรในการติดตามเฝ้าระวังในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้แก่ เจ้าหน้าที่กรมการข้าว นักวิจัย นักวิชาการ กลุ่ม Smart farmer และกลุ่ม Smart officer

5.ข้อมูลสารสนเทศและข่าวสารเศรษฐกิจการเกษตร (Ag-Info)

        แอพพลิเคชั่นซึ่งรวบรวมข้อมูลสารสนเทศและข่าวสารเศรษฐกิจการเกษตร เพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผนทำการเกษตรและการตัดสินใจ อาทิ ราคาสินค้าเกษตร ณ ตลาดกลาง เป็นรายวัน ราคาสินค้าเกษตร ณ ไร่นา ปฏิทินสินค้าเกษตร การติดตามสถานการณ์การผลิตการตลาด การเตือนภัยและข่าวสารการประชาสัมพันธ์ ตลอดจนนโยบายของรัฐ

6.เทคโนโลยีการผลิตข้าว (Rice Production Technology)

        แอพพลิเคชั่นนี้เป็นระบบที่รวบรวมข้อมูลเทคโนโลยีการผลิตข้าว โดยแบ่งข้อมูลออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ การปลูก ดูแลรักษาและการใช้ปุ๋ยในนาข้าว ศัตรูข้าวและการป้องกันกำจัดวัชพืชในนาข้าวและเมล็ดพันธุ์และการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ใครที่สนใจจะเริ่มปลูกข้าว ทำนา อย่างจริงจัง ลองโหลดไปหาความรู้กันดูนะ

7.ศัพท์เกษตร 5 ภาษาอาเซียน (AC AGRI VOCAB)

        AC AGRI VOCAB เป็นแอพพลิเคชั่นที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการเรียนรู้คำศัพท์พื้นฐานด้านการเกษตร เช่น ผัก สมุนไพร เครื่องเทศ ผลไม้ พืชไร่ ไม้ยืนต้น สัตว์ทางการเกษตร และคำศัพท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมี 5 ภาษาให้เลือกฝึกและทำความคุ้นเคย ได้แก่ ภาษาไทย เวียดนาม เมียนมา กัมพูชา และภาษาบาฮาซา 

8. รู้ไว้ใช้ดินเป็น (Ldd Soil Guide)

        เป็นแอพพลิเคชั่นที่กรมพัฒนาที่ดินจัดทำขึ้นชนิดที่เรียกได้ว่าครบเครื่องเรื่องดิน ในชุดความรู้ระบบสารสนเทศดินและข้อมูลการใช้ปุ๋ย ที่แสดงข้อมูลกลุ่มชุดดินและข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งประเทศ สามารถสืบค้นข้อมูลแผนที่จาก Google Map ได้เลย เมื่อเกษตรกรคลิกเลือกพื้นที่ที่ต้องการ ระบบจะแสดงข้อมูลสถานที่ ตำบล อำเภอ จังหวัด และจุดพิกัด ณ ตำแหน่งที่เลือก พร้อมทั้งแสดงข้อมูลกลุ่มชุดดิน ประกอบด้วย ลักษณะเด่นของกลุ่มชุดดินนั้นๆ คุณสมบัติดิน ความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ ปริมาณน้ำที่พืชใช้ประโยชน์ได้ (AWC) แสดงข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน แนวทางจัดการดินเพื่อการปลูกพืช แสดงข้อมูลความเหมาะสมของดินในการปลูกพืช 

9.เกมการทำเกษตรเสมือนจริง (LDD’s IM Farm)

        ตามติดด้วย LDD’s IM Farm แอพพลิเคชั่นที่กรมพัฒนาที่ดินจัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ในรูปแบบของเกมที่ใช้เพื่อเป็นข้อมูลทางเลือกในการตัดสินใจการใช้ประโยชน์ที่ดิน ให้ได้ผลตอบแทนสูงสุด และใช้เป็นระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา (e-Education) ด้านการเกษตร สำหรับเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดิน เกษตรกร นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป และเพื่อเป็นแหล่งความรู้ด้านการทำเกษตรกรรม ที่ทั้งสนุกและได้ความรู้ควบคู่กันไป

10.กระดานเศรษฐี : เกษตรกรมีโอกาส

        แอพพลิเคชันกระดานเศรษฐี: เกษตรกรมีโอกาส ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการคำนวณต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร และเปรียบเทียบต้นทุนจากการคำนวณกับต้นทุนเฉลี่ยของทางสำนักงานฯ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุน โดยยังมีข้อมูลตลาด และความเหมาะสมของสินค้าในพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลือกลงทุนกับสินค้าที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตนมากที่สุด

11.ปฏิทินการผลิตสินค้าเกษตร,แหล่งรับซื้อสินค้า (OAE OIC)

        แอพพลิเคชั่นอำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกรประชาชน ในเรื่องข้อมูลปฏิทินการผลิตสินค้าเกษตร แหล่งรับซื้อราคาสินค้าเกษตร รวมทั้งข่าวประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อน ๆ เกษตรกรสามารถเข้าไปดูข้อมูลปฏิทินสินค้าเกษตรที่สำคัญรายเดือน เข้าถึงข่าวสารได้ง่าย รวดเร็ว มีข้อมูลปฏิทินการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญรายเดือน (Crop Calendar) เชื่อมโยงแหล่งผลิต แหล่งรับซื้อ และ ราคา สำหรับประชาชน เพื่อให้สามารถวางแผนการผลิต และการตลาด ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

12.ศูนย์กลางรวบรวมและเผยแพร่ (MOAC App Center)

        ใครที่ไม่รู้จะโหลดแอพพลิเคชั่นไหนดี ก็สามารถโหลดแอพนี้ได้เลย เพราะ MOAC App Center ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมและเผยแพร่ Mobile Application ของหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเกษตรกร ประชาชนผู้ที่สนใจ สามารถขอรับบริการและค้นหาความรู้ด้านการเกษตร ผ่านอุปกรณ์ Smart Device ได้ทันที ซึ่งจะมีครบทุกแอพที่กล่าวมารวมอยู่ในแอพนี้แอพเดียว

        ที่มา :  ธนาคารกรุงเทพ : http://www.bangkokbanksme.com/article/14192