ล้างดอกเบี้ยค้างจ่าย นาทีทองลูกหนี้กองทุนจัดรูปที่ดิน

ล้างดอกเบี้ยค้างจ่าย
นาทีทองลูกหนี้กองทุนจัดรูปที่ดิน
โดย ปรีชา อภิวัฒนกุล

         อาชีพการเกษตร เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง ควบคุมการผลิตได้ยาก เพราะมีปัจจัยแวดล้อมที่คุมไม่ได้หลายอย่าง อาทิ ฝนฟ้าพายุ ที่นำพาน้ำท่วมหรือความแห้งแล้ง แมลงศัตรูพืช โรคระบาด รวมไปถึงราคาตลาด และ ฯลฯ
         ประเทศพัฒนาแล้ว จึงให้ความสำคัญกับเกษตรกร ในฐานะผู้ผลิตอาหาร โดยใช้มาตรการให้ความช่วยเหลือมากมาย เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้เป็นกำลังค้ำยันความมั่นคงด้านอาหารแทนการนำเข้าทั้งหมด
         ประเทศไทยเองมีผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมจำนวนมาก เนื่องจากอยู่ในภูมิภาคที่มีความเหมาะสมในการผลิตอาหารสูงสามารถผลิตได้ตลอดทั้งปี จึงได้ชื่อว่า เป็นครัวของโลกแห่งหนึ่ง
         เกษตรกรไทยเผชิญปัญหาความเสี่ยงทุกรูปแบบ เป็นสาเหตุสำคัญทำให้ประสบปัญหาทางการเงิน รัฐบาลไทยเองพยายามใช้มาตรการช่วยเหลือไม่น้อยเช่นกัน เพราะเกษตรกรไทยไม่เพียงเป็นความมั่นคงด้านอาหารเท่านั้น หากเป็นผู้มีส่วนสร้างรายได้เงินตราต่างประเทศจากการส่งออกอีกด้วย
         นายวีรวัฒน์ อังศุพาณิชย์ ผู้อำนวยการ สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีนโยบายลดปัญหาหนี้สินให้เกษตรกรตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอนั้น สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางได้จัดทำมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กองทุนจัดรูปที่ดิน และได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2561
         จากการสำรวจลูกหนี้กองทุนจัดรูปที่ดินที่มีหนี้ค่าใช้จ่ายในการจัดรูปที่ดินในเดือนมีนาคม พ.ศ.2561 พบว่ามีลูกหนี้ที่ติดค้างหนี้เป็นเวลานานจำนวน 2,251 ราย เป็นเงินต้น 18.93 ล้านบาท และดอกเบี้ยผิดนัดค้างชำระ 9.37 ล้านบาท

         "จำนวนหนี้รวมไม่มากเกือบ 19 ล้านบาท แต่ละรายก็เหลือไม่มาก แต่ดอกเบี้ยมาก เพราะค้างชำระนาน อีกทั้งเบี้ยปรับในอดีตเคยสูงถึง 12% ปัจจุบันอยู่ที่ 3% บางรายดอกเบี้ยผิดนัดสูงกว่าเงินต้นด้วยซ้ำ มาตรการนี้จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยผิดนัด ส่วนเงินต้นยังต้องชำระเท่าจำนวนเดิม"
         นายวีรวัฒน์กล่าวว่า ที่ผ่านมาลูกหนี้ของกองทุนฯ ไม่เคยได้รับสิทธิเช่นนี้มาก่อนเลย ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่กองทุนฯ ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) จัดทำมาตรการนี้ เพื่อให้เกษตรกรในโครงการจัดรูปที่ดินได้รับสิทธิเหมือนเกษตรกรอื่นๆ
         ทางด้านนายประเมษ ชูสิน ผู้อำนวยการส่วนกองทุนจัดรูปที่ดิน กล่าวว่า ลูกหนี้ที่ทำบันทึกข้อตกลงเข้ารับสิทธิ หากชำระหมด นับแต่วันทำบันทึกข้อตกลงถึงวันที่ 31 มีนาคม 2562 ก็จะยกเลิกดอกเบี้ยผิดนัดชำระทั้งหมด แต่ถ้าชำระเงินต้นหมดภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 จะคิดดอกเบี้ยเพียง 1% ของเงินต้นคงเหลือ และชำระเงินต้นหมดภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564 คิดดอกเบี้ย 2% ของเงินต้นคงเหลือ
         ทั้งนี้ กำหนดให้ลูกหนี้แจ้งขอรับสิทธิพิเศษนี้ภายในเดือนกันยายน 2561 และทำบันทึกข้อตกลงภายในเดือนธันวาคม 2561
         "มาตรการนี้จะเป็นแรงกระตุ้นให้ลูกหนี้เร่งชำระหนี้เร็วขึ้น เพราะลดดอกเบี้ยค้างจ่ายลงได้มาก จะได้หมดๆ ภาระไป นอกจากนั้น กองทุนฯ เองก็จะจัดทีมออกไปเยี่ยมลูกหนี้มีปัญหาค้างจ่ายนี้อีกด้วย"

         นายประเมษกล่าวว่า จากการลงพื้นที่เยี่ยมลูกหนี้ทั่วไปพบว่าได้ผลดีเกินคาด จากการดำเนินการต่อเนื่องจากปี 2560-2561 ปรากฏว่า กองทุนฯ ได้รับการชำระหนี้เพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยเดือนละ 7-8 แสนบาท เป็นเฉลี่ยที่ 1 ล้านบาท เพราะเป็นการลงไปเยี่ยมเยียน ให้กำลังใจมากกว่าการทวงหนี้โดยตรง ทำให้เกษตรกรมีความรู้สึกดีขึ้น
         "บางรายมีเงินในมืออยู่แล้ว ถึงกับขอจ่ายหนี้ตรงนั้นหรือฝากไปจ่ายแทน แม้เราจะทำให้ไม่ได้ แต่สะท้อนว่า เกษตรกรมีเงิน เขาก็พร้อมจ่าย"
         ผู้อำนวยการส่วนกองทุนจัดรูปที่ดินยอมรับว่า หนี้ค้างชำระนานส่วนหนึ่งเกิดจากเกษตรกรมีหนี้หลายแหล่ง เวลามีรายได้จะเลือกชำระหนี้แหล่งอื่นก่อน เช่น หนี้ ธกส. เพราะเกี่ยวพันกับการได้สิทธิกู้เพิ่มเติมหรือหนี้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยแพงมาก ต้องรีบชำระก่อน จึงไม่มีเงินเหลือพอชำระหนี้กองทุนฯ การมุ่งทวงหนี้อย่างเดียวคงไม่พอ จึงวางแผนออกไปเยี่ยมเยียนเสริมด้วย

         "กองทุนฯ มี 3 แนวทางในการพยายามลดหนี้ อย่างแรก แจ้งหนี้ล่วงหน้า 1 เดือนเป็นการเตือนให้ลูกหนี้ได้เตรียมตัวเหมือนกับที่ภาคเอกชนทำ ตามมาด้วยการออกไปเยี่ยมเยียนถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ เป็นการให้กำลังใจและกระตุ้นให้ชำระหนี้ไปในตัว แล้วถึงจะเป็นการจัดมาตรการช่วยเหลือคล้ายๆ รายการนาทีทอง"
         หนี้กองทุนจัดรูปที่ดิน เป็นหนี้จากค่าใช้จ่ายในการจัดรูปที่ดิน ซึ่งมีการก่อสร้างคูส่งน้ำ คูระบายน้ำ อาคารชลประทาน เช่นเส้นทางลำเลียง ประตูเปิดปิดน้ำ การปรับระดับดิน การจัดรูปแปลงที่ดินใหม่ เพื่อออกโฉนดใหม่ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางรับไป 80% อีก 20% เกษตรกรรับไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผ่อนชำระกองทุนจัดรูปที่ดิน