จุดพลุระบบน้ำสวนทุเรียน จ.ระยอง น้ำมั่นคง ชาวสวนมั่งคั่ง

จุดพลุระบบน้ำสวนทุเรียน จ.ระยอง
น้ำมั่นคง ชาวสวนมั่งคั่ง
โดย ปรีชา อภิวัฒนกุล

         พื้นที่ชลประทานโดยทั่วไป มักเป็นพื้นที่นาปลูกข้าวเป็นหลัก
         แต่สำหรับพื้นที่ในภาคตะวันออก การเกษตรที่นี่มีความหลากหลายสูง การทำนาเป็นส่วนหนึ่งของอาชีพเกษตรกร หลักๆ ก็ยังมีสวนผลไม้ และการประมงเพาะเลี้ยงปลาขาย
         สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน นอกจากมีงานจัดรูปที่ดินแล้ว ยังมีงานจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมหรืองานคันคูน้ำเดิมอีกส่วนหนึ่งด้วย โดยได้นำร่องจัดระบบน้ำโครงการท่ากระสาว-ห้วยมะเฟืองเป็นโครงการแรก ในพื้นที่ ต.บ้านแลง และ ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง เมื่อ พ.ศ.2556-2557 รวมจำนวน 3,000 ไร่
         "เรารับน้ำจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ ซึ่งเปรียบเสมือนท่อเมนสายใหญ่ เราก็ก่อสร้างต่อจากท่อเมนเสมือนท่อย่อย เพื่อส่งน้ำเข้าสู่แปลงเกษตรกรเป็นรายๆ" นายชยพล โพธิ หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม สำนักงานจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมที่ 19 (สจจ.19) ย้อนให้เห็นภาพ

         เดิมที เกษตรกรต้องสูบน้ำจากคลองหรือสระน้ำที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ส่งมา เพื่อเก็บไว้ในสระส่วนตัว ก่อนสูบใช้อีกที ซึ่งมีต้นทุนสูบน้ำมาค่อนข้างสูง แต่เมื่อ สจจ.19 เข้ามาพัฒนาช่วยให้การใช้น้ำสะดวกมากขึ้น เพราะมีน้ำเข้าถึงแปลงโดยตรง และเก็บสต็อกน้ำต้นทุนในสระส่วนตัวได้อีก เท่ากับลดต้นทุนค่าสูบน้ำอีกด้วย
         สจจ.19 ยังมีโครงการจัดระบบน้ำใน จ.ระยอง อย่างต่อเนื่องหลายโครงการ รวมแล้วกว่า 10,000 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สวนผลไม้ โดยเฉพาะสวนทุเรียน ซึ่งมีความต้องการน้ำสูงหลังจากติดผลจนกระทั่งเก็บเกี่ยว และมีส่วนช่วยให้พื้นที่สวนทุเรียนระยองมีผลผลิตเพิ่มขี้น กลายเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้ค่อนข้างมากแก่เกษตรกร ไม่นับชื่อเสียงในแง่แหล่งผลิตทุเรียนคุณภาพดีแห่งหนึ่งของประเทศ

         นายมานิตย์ ดีเจริญชัยยะกุล ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่จัดระบบน้ำ หมู่ 9 ต.วังหว้า อ.วังจันทร์ จ.ระยอง เล่าว่า สิ่งสำคัญของการจัดระบบน้ำของ สจจ.19 คือสะดวกในการใช้น้ำและลดต้นทุนค่าสูบน้ำ มีส่วนทำให้ผลผลิตดีขึ้นมาก เพราะมีความมั่นคงด้านน้ำโดยเฉพาะน้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำประแสร์มีปริมาณค่อนข้างมาก สามารถตอบสนองความต้องการของเกษตรกรได้ดี
         "น้ำต้นทุนมีพร้อมอยู่แล้ว พอ สจจ.19 ก่อสร้างการจัดระบบน้ำให้ ช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่โครงการได้รับน้ำอย่างทั่วถึง โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีน้ำ หรือต้องแย่งน้ำกันเหมือนในอดีต ยิ่งปีนี้ราคาทุเรียนดี ทุกคนมีชีวิตดีขึ้น"
         นายมานิตย์กล่าวว่า เมื่อหมดความกังวลเรื่องน้ำก็สามารถใช้เวลาในการดูแลลูกทุเรียนได้อย่างเต็มที่ ทำให้ได้ผลผลิตดี อีกทั้งราคาปีนี้เฉลี่ยไม่น้อยกว่ากิโลกรัมละ 70-80 บาท ทำให้ชาวสวนทุเรียนในโครงการยิ้มแย้มมีความสุข
         "เทียบกับแต่ก่อน เวลารดน้ำทีต้องดูทีว่า น้ำในสระยุบไปกี่นิ้วแล้ว ต้องใช้อย่างจำกัด แต่ตอนนี้ไม่มีเรื่องขาดน้ำ เกษตรกรกว่า 100 รายในโครงการทุ่มเทดูแลผลผลิตกันได้อย่างเต็มที่"

         ทางด้าน นายประพัฒน์ จันทร์พราหมณ์ กำนัน ต.วังหว้า อ.วังจันทร์ กล่าวว่า นอกจากความสมบูรณ์ของน้ำทั้งจากโดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ และ สจจ.19 แล้ว เกษตรกรชาวสวนทุเรียนและไม้ผลใน ต.วังหว้า ได้พัฒนาต่อยอดเป็นโครงการเกษตรแปลงใหญ่ เป็นการรวมกลุ่มเพื่อสร้างความเข้มแข็ง ทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้ในการทำสวน ซึ่งแต่คนละมีวิธีการที่แตกต่างกัน การอบรมการใช้ผลิตและสารอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุนการผลิตจากหน่วยงานรัฐ การอบรมส่งเสริมการขายโดยหอการค้า การเปิดช่องทางขายทุเรียนในร้านโอท็อป หรือการรวมกลุ่มซื้อปัจจัยการผลิตในราคาที่ถูกลง
         "เราเพิ่งเริ่ม แต่มีประโยชน์จริง ลดต้นทุนได้จริง ได้รับความรู้ใหม่ๆ แม้พื้นที่สวนทุเรียนอยู่ใกล้กัน แต่ดิน ธาตุอาหาร ต่างกัน กระบวนการจัดการก็แตกต่างกัน เดิมเราไม่ค่อยได้มาคุยกัน แต่เวทีเกษตรแปลงใหญ่จะเปิดโอกาสได้มากขึ้น"
         นายประพัฒน์กล่าวว่า ในส่วนของสารเคมี ยังเป็นสิ่งจำเป็นระหว่างที่ทุเรียนกำลังติดผล เพราะจะช่วยให้ผลผลิตดีขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น แต่หลังเก็บเกี่ยวแล้ว การใช้สารอินทรีย์จะมีบทบาทมากขึ้นและช่วยลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี
         "เกษตรกรสวนทุเรียนวังหว้ายังก้าวถึงขั้นการติดบาร์โค้ดที่ขั้วผลทุเรียน สามารถย้อนกลับมาดูว่า เป็นทุเรียนสวนใคร หากซื้อไปแล้วมีปัญหา ซึ่งทางจังหวัดระยองให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์ในระยะยาว" นายประพัฒน์กล่าว