"หว้า" ไม้มากสรรพคุณยา ยับยั้งเซลล์มะเร็งเต้านม

         นานๆ จะได้เจอ ต้นหว้า สักที อยู่กรุงเทพฯไม่ค่อยมีให้เห็นต้องออกไปต่างจังหวัด ต้นนี้เจอที่จังหวัดอุดรธานี ออกลูกเป็นพวงเต็มต้น ลูกแก่ๆ รสชาติหวานอมเปรี้ยว ติดฝาดนิดๆ นึกถึงสมัยเด็กๆ ที่มีต้นหว้าให้ปีนป่ายเก็บลูกกินกันได้อย่างสนุกสนาน
         หว้า ชื่อสามัญ Jambolan plum, Java plum, Jambul ชื่อวิทยาศาสตร์ Syzygium cumini (L.) Skeels จัดอยู่ในวงศ์ชมพู่ (MYRTACEAE) บ้านเรามีชื่อเรียกขานตามถิ่นต่างๆ ทั้งหว้า หว้าป่า หว้าขาว หว้าขี้นก หว้าขี้แพะ ชาวฮินดูจะเรียกลูกหว้านี้ว่า "จามาน" หรือ "จามูน"
         ไม้ยืนต้นชนิดนี้ มีต้นกำเนิดในประเทศบังคลาเทศ อินเดีย เนปาล ปากีสถาน ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ขณะที่ประเทศไทยนั้น มีต้นหว้าพันธุ์พระราชทานและเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งต้นหว้าถือเป็นไม้มงคลในด้านความสำเร็จและชัยชน
         ลูกหว้ามีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ ทั้งวิตามินซี ฟอสฟอรัส แคลเซียม และคาร์โบไฮเดรต ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพ กินได้ทั้งผลสดๆ หรือนำมาทำเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ไวน์ เยลลี่ หรือแยม ก็ได้ สารที่มีอยู่ในลูกหว้าจะเป็นสารกลุ่มแอนโธไซยานิน (ไซยานิดิน) กรดเอลลาจิก กรดเฟอรูลิก ซึ่งสารกลุ่มนี้จะมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านฤทธิ์ของสารก่อมะเร็ง โดยพบว่าสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งลำไส้ มะเร็งช่องปาก และมะเร็งเต้านมได้

   

         ส่วนใบและเปลือกของต้นหว้า นำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย มีสรรพคุณที่ค่อนข้างหลากหลาย เช่น ช่วยย่อยอาหาร ช่วยลดการจับตัวของลิ่มเลือด มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านโรคมะเร็ง หรือใช้ทำยาอม ยากวาดคอ แก้ปากเปื่อย ลิ้นและคอมีเม็ด
         ใบและเมล็ดหว้า ใช้แก้บิด มูกเลือด ท้องเสีย นำใบและเมล็ดหว้ามาต้มกับนํ้า แล้วนำนํ้าที่ได้มาใช้ในการชะล้างแผลเน่าเปื่อย หรือนำใบและเมล็ดหว้ามาตำแล้วใช้ทาแก้โรคผิวหนัง เมล็ดหว้า เมล็ดหว้าเมื่อนำมาต้มหรือบด แล้วนำมารับประทาน มีสรรพคุณใช้แก้เบาหวาน แก้บิด แก้ท้องร่วงได้

ข้อมูลจาก : medthai, วิกิพีเดีย