องค์กรน้ำแห่งชาติ สทนช. สตาร์ทเร็ว ขับเคลื่อนไว

องค์กรน้ำแห่งชาติ สทนช.
สตาร์ทเร็ว ขับเคลื่อนไว
โดย ปรีชา อภิวัฒนกุล

         สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาคิ (สทนช.) ถือกำเนิดโดยอาศัยอำนาจ ม.44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2560 เป็นหน่วยงานขึ้นตรงนายกรัฐมนตรี เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านน้ำของประเทศไทย
         ท่ามกลางคำปรามาสว่า จะเป็นเสือกระดาษที่รายล้อมด้วยเสือจริง คือหน่วยงานด้านน้ำ 38 หน่วย 7 กระทรวง
         ฟังดูสยดสยองแทบจะทำนายจุดจบล่วงหน้าได้เลย
         เพราะแนวคิดนี้เคยลงมือทำในรัฐบาลก่อนๆ แต่ไม่เคยสำเร็จผล เพราะโดยธรรมชาติต่างคนต่างมีอำนาจ ต่างมีกฎหมายของตัวเอง ต่างมีภารกิจของตัวเอง
         จึงไม่แปลกที่ช่วงเวลาที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำจึงเป็นลักษณะต่างคน ต่างทำ ปัญหาน้ำจึงไม่สะเด็ดน้ำเสียที หากเกิดภาพ “ท่วมซ้ำซาก แล้งซ้ำซาก” กระจายไปทั่วประเทศ
         สทนช. ก้าวข้ามประเด็นปัญหาเหล่านี้ จนเปล่งศักยภาพให้เห็นเป็นระยะๆ จนเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2561 หรือ 7 เดือนให้หลัง มีการจัดนิทรรศการและอภิปรายการปฏิรูปการบริหารจัดการน้ำของประเทศ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานในพิธีเปิด ท่ามกลางหน่วยงานด้านน้ำกว่า 38 หน่วย และมีผู้ร่วมงานไม่น้อยกว่า 600 คน มาร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน ณ ห้องประชุมตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
         เป็นการเปิดตัว สทนช. อย่างเป็นทางการ

         ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทั้ง ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. พูดกันด้วยถ้อยทำนองเดียวกันถึง 3 เสาหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์น้ำของประเทศ
         เสาหลักแรก การจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)
         เสาหลักสอง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นหมุดหมายสำคัญกำหนดบทบาท ภารกิจ และอำนาจรองรับ สทนช. ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อยู่ระหว่างการพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
         เสาหลักสุดท้าย แผนยุทธศาสตร์น้ำ 20 ปี (2560-2579) ที่ปรับจากแผนยุทธศาสตร์น้ำ 12 ปี (2558-2569) เพื่อให้สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล
         เป็น 3 เสาหลักที่ขาดเสาใดเสาหนึ่งมิได้เลย

         พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยากจะเห็นหน่วยงานบูรณาการเรื่องน้ำเกิดขึ้น เพราะสารพัดโครงการน้ำที่เสนอเข้า ครม. เป็นต่างหน่วยต่างเสนอ เชื่อมโยงบ้างก็มี ไม่เชื่อมโยงเลยก็มาก ถึงเป็นนายกรัฐมนตรีก็ไม่สามารถกุมสภาพได้ ไหนจะงบประมาณ ไหนจะความคุ้มค่า ไหนจะประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างแท้จริง
         ลำพังกุมสภาพเรื่องน้ำไม่ได้ก็พอเข้าใจได้ แต่เครื่องมือที่จะใช้ขับเคลื่อน สทนช. นั้นเล่า นายกรัฐมนตรีคนนี้มีอะไรในมือ?
         ชื่อชั้นของ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เป็นที่รู้จักของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ตั้งแต่สมัย คสช. เข้าสู่อำนาจใหม่ๆ ในฐานะสต้าฟทำงานเรื่องน้ำ จนก้าวขึ้นสู่เก้าอี้รองอธิบดีกรมชลประทาน หลังจากเป็นผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการมานานถึง 7 ปี
         เลขาธิการ สทนช. เทียบเท่าปลัดกระทรวงหรือซี 11 ใครจะขึ้นสู่ตำแหน่งนี้ต้องเป็นซี 10 ก่อน
         นั่นเองที่ทำให้ ดร.สมเกียรติ เป็นอธิบดีกรมชลประทาน ซี 10 ไม่ถึง 2 เดือนเต็ม แล้วก้าวข้ามเป็น ซี 11 ในตำแหน่งเลขาธิการ สทนช. ทำงานขับเคลื่อนเรื่องน้ำใกล้ชิดขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีการประชุมใหญ่ๆ ที่ไหน พล.อ.ประยุทธ์ จะแนะนำเลขาธิการ สทนช. คนใหม่ให้ที่ประชุมรู้จักทุกครั้ง เรียกว่า มีปัญหาน้ำให้ถาม ดร.สมเกียรติ
         ชั่วเวลา 7 เดือน ดร.สมเกียรติ และคณะรวมแล้วไม่ถึง 100 คน สามารถนำพานาวา สทนช. ฝ่าฟันคลื่นลมแรงต้านทั้งหลายสู่ท้องทะเลหลวงได้อย่างน่าสนใจ

         วันที่ 4 มิถุนายน 2561 งานนิทรรศการและอภิปรายการปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ณ ตึกสันติไมตรี จึงเป็นการเปิดตัว สทนช. อย่างเป็นทางการท่ามกลางความพร้อมในระดับที่หัวหน้า คสช. เองก็พอใจ
         อย่างน้อยที่สุด สทนช. จัดบูรณาการแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูน้ำหลากร่วมกับกว่า 38 หน่วยงานเรียบร้อยแล้ว ประชาชนก็รู้สึกไม่โดดเดี่ยวว่ามีคนช่วยจัดการ ใครเป็นเจ้าภาพเรื่องอะไร ทำงานสอดประสานกันอย่างไร
         เหลือก็แต่การขับเคลื่อนแผนบริหารจัดการน้ำระยะกลางและระยะยาว ซึ่งแต่ละหน่วยงานเริ่มรู้แล้วว่า ตัวเองอยู่ตรงไหน ต้องร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ โดยมีเข็มทิศนำทางมากกว่าดุ่ยๆ ทำอย่างที่เคยผ่านมา