เกษตรฯ แก้สับปะรดล้นตลาด ผสมฟางแปรรูปอาหารสัตว์

         นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึง โครงการแปรรูปผลสับปะรดสดเป็นอาหารสัตว์เพื่อแก้ปัญหาสับปะรดล้นตลาด ในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ระยอง และลำปาง ว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ ดำเนินโครงการดังกล่าวเพื่อช่วยแก้ปัญหาสับปะรดในสภาวะล้นตลาดในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน โดยนำสับปะรดมาผสมกับฟางข้าว กากถั่วเหลือง กากเนื้อในเมล็ดปาล์มน้ำมัน บรรจุถุงหมักรวมไว้ 7 วัน ก่อนนำไปจำหน่ายให้กลุ่มผู้เลี้ยงโคในพื้นที่ต่างๆในจังหวัดตามลำดับ โดยเฉพาะโคนมอาหารนี้จะช่วยให้โคผลิตน้ำนมได้เพิ่มมากขึ้น

         ช่วงฤดูสับปะรดออกผลสู่ตลาดมากที่สุด สูงถึง 2.24 ล้านตัน ทว่าความต้องการบริโภคภายในประเทศและส่งออกไม่เกิน 2 ล้านตัน จึงมีสับปะรดล้น 0.24 ล้านตัน ทำให้สับปะรดราคาตกต่ำ ขณะที่สับปะรดผลเล็ก ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน โรงงานสับปะรดไม่รับซื้ออีกรวม 0.23 ล้านตัน ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระยอง และลำปาง ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดที่ได้รับความเดือดร้อนได้ในระดับหนึ่ง

         "การเลี้ยงโคนมของเกษตรกรด้วยสับปะรดกับฟางข้าวเสริมอาหารข้น (TMR) จะทำให้ต้นทุนค่าอาหารของโคนมลดลงและได้ผลผลิตปริมาณน้ำนมดิบสูงขึ้น ซึ่งการผลิตอาหารทีเอ็มอาร์สำหรับโคนม โปรตีน 16% จำนวน 1 ตัน ประกอบด้วยผลสับปะรดสด 710 กก. ฟางข้าว 140 กก. กากถั่วเหลือง 66.5 กก. กากเนื้อในเมล็ดปาล์มน้ำมัน 80 กก. และปุ๋ยยูเรีย 3.5 กก. ใส่เครื่องผสมอาหาร TMR เพื่อหั่นฟางและคลุกเคล้าวัตถุดิบทั้งหมดให้เข้ากัน บรรจุถุงและปิดปากถุงให้สนิท หมักไว้ 7 วัน สามารถนำไปใช้เลี้ยงโคนมต่อไป" รมช.เกษตร กล่าว