ปชส. เกษตรเขต 2 จัดงาน Field Day

         นางอ้อมทิพย์ สุทธิพงศ์เกียรติ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดร่วมกันจัดกิจกรรมวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่หรือเรียกว่า งานวัน Field Day เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้รับทราบเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ ช่องทางการตลาด แหล่งข้อมูล การเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของตนเอง ตลอดจนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรด้วยกันเอง รวมทั้งนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ซึ่งเป็นตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงาน Field day โดยใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก. เป็นสถานที่จัดงานดังกล่าว

         การจัดงาน Field day จึงเป็นสัญญาณของการเริ่มต้นฤดูการผลิตใหม่ที่เหมาะสม สำหรับปีการผลิต 2561/62 สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 ได้จัดงานในวันที่ 24 พฤษภาคม 2561 ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร สินค้าหลักคือมะพร้าวน้ำหอม เนื่องจากอำเภอบ้านแพ้ว มีพื้นที่ปลูกมะพร้าว 18,461 ไร่ เกษตรกร 1,814 ครัวเรือน เป็นแหล่งผลิตมะพร้าวน้ำหอมคุณภาพดีและเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของอำเภอบ้านแพ้ว ฉะนั้นกิจกรรมรณรงค์เริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่จะเน้นการเตรียมความพร้อมเกษตรกรก่อนเข้าสู่การเริ่มต้นการผลิตใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะพร้าวน้ำหอม ซึ่งเป็นสินค้าหลักของเกษตรกรในพื้นที่ พัฒนาคุณภาพมาตรฐาน ลดต้นทุนการผลิต เชื่อมโยงการตลาด และนวัตกรรมการแปรรูป สร้างคุณภาพสินค้า การใช้เครื่องจักรกลเข้ามาสนับสนุนการเกษตร เป็นต้น

         โดยกิจกรรมในงาน Field Day ของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอบ้านแพ้ว ประกอบด้วย 4 สถานีการเรียนรู้ ได้แก่ การเพาะพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม การใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีกำจัดศัตรูมะพร้าว การป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวแบบผสมผสาน และนวัตกรรมและการแปรรูปมะพร้าว และยังมีฐานความรู้ 3 องค์ประกอบ คือ การจัดการดินและปุ๋ย  การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า และเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมงานจำนวน 200 ราย จะได้รับการถ่ายทอดความรู้แบบเห็นของจริง ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการจัดงาน ที่ต้องการให้เกษตรกรเข้าถึงองค์ความรู้ที่เหมาะสม เกิดการประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับกิจกรรมทางการเกษตรของตนเอง จะทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งและอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป