อาหารสัตว์จากสับปะรด : แก้ผลผลิตล้นตลาด-ราคาตกต่ำ

 

    กรุงเทพฯ - นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ช่วงเดือนพฤษภาคม– มิถุนายน ของทุกปีเป็นช่วงฤดูที่สับปะรดออกสู่ตลาดมากที่สุด และในปี 2561จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดราว 2.46 ล้านตัน มากกว่าปีที่แล้วถึงร้อยละ 35 แม้ว่าภายในประเทศมีความต้องการบริโภคสูง และเพื่อส่งออกปีละไม่เกิน 2 ล้านตัน จึงมีผลผลิตเกินความต้องการ ประกอบกับมีผลผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ผลขนาดเล็ก เนื่องจากกระทบแล้ง และโรงงานไม่รับซื้ออีกประมาณร้อยละ 20 ซึ่งเกษตรกรจำหน่ายในราคา 0.80–1.00 บาทต่อกิโลกรัม จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สับปะรดโรงงานขณะนี้มีราคาตกต่ำ   

       กรมปศุสัตว์ โดยสำนักพัฒนาอาหารสัตว์ จึงคิดสูตรอาหารสัตว์เลี้ยงโคเนื้อ โคนม ด้วยสับปะรดโดยวิธีเก็บถนอมไว้ในรูปการหมัก แต่ผลสับปะรดสดมีวัตถุแห้งต่ำถึงร้อยละ 10-12 มีความชื้นสูงร้อยละ 90 ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เหมาะสำหรับการหมัก จึงเติมวัสดุฟางข้าวสับเพื่อปรับให้วัตถุแห้งอยู่ที่ระดับร้อยละ 35-40 ซึ่งนับเป็นสภาพการหมักที่ดี จากนั้นจึงร่วมมือกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สหกรณ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค อ่าวน้อย จำกัด ดำเนินโครงการนำร่องแปรรูปสับปะรดเพื่อเป็นอาหารสัตว์เพื่อเป็นอาหารโคนม แก้ปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำ อีกทั้ง ได้ผลิตอาหารทีเอ็มอาร์จากผลสับปะรด เพื่อจำหน่ายให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในพื้นที่ จำนวน 30 ตัน ตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นมา

       ทั้งนี้ วิธีการแปรรูปสับปะรดเป็นอาหารสัตว์นั้น ให้นำสับปะรด 650 กิโลกรัม และฟางข้าว 350 กิโลกรัม ใส่เครื่องผสมอาหาร TMR เพื่อหั่นและคลุกเคล้าให้เข้ากัน นำมาใส่ถังหรือถุงและไล่อากาศออกให้มากที่สุด ปิดฝาถังหรือมัดปากถุงให้สนิท หมักทิ้งไว้ 14-21 วัน ก็นำไปใช้เลี้ยงสัตว์ เช่น โคเนื้อ โคนม แพะ แกะ ได้เป็นอย่างดี โดยคิดเป็นต้นทุนเปลือกสับปะรดหมักฟางเท่ากับ 2.00 บาทต่อกิโลกรัม อีกทั้ง ยังมี “โครงการรับซื้อสับปะรดคัดทิ้งเพื่อแปรรูปเป็นอาหารทีเอ็มอาร์ สำหรับโคนม” สนับสนุนโดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ ภายใต้งบประมาณกลางปี 2561 (ไทยนิยมยั่งยืน) ให้สหกรณ์ฯ เป็นศูนย์รับซื้อ-แปรรูป และจำหน่ายอาหารทีเอ็มอาร์ให้แก่สมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรผู้สนใจ โดยสนับสนุนเงินกู้ จำนวน 4,000,000 บาท อีกด้วย