"ห้วยสะตอ-คลองแอ่ง" ความมั่นคงของลุ่มน้ำเมืองตราด

p>

ห้วยสะตอ-คลองแอ่ง
ความมั่นคงของลุ่มน้ำเมืองตราด
โดย ปรีชา อภิวัฒนกุล

         อ่างเก็บน้ำห้วยสะตอ อ.บ่อไร่ จ.ตราด เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน ที่บรรจุไว้ในแผนพัฒนาระยะยาว ( พ.ศ.2544 - 2547)
         พ้นแผนระยะยาวไปแล้ว แต่อ่างเก็บน้ำไม่ได้ก่อสร้างเสียที ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของราษฎรในพื้นที่ ต.หนองบอน อ.บ่อไร่ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ทั้งสวนยางพารา และสวนผลไม้เป็นหลัก
         นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ พร้อมด้วยนายชูชาติ รักจิตร ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง จึงลงพื้นที่สำรวจสภาพ และร่วมหารือรับฟังปัญหากับองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบอน อ.บ่อไร่ และราษฎร เพราะกรมฯ เองได้ดำเนินการตามกระบวนการทุกอย่าง แต่ติดขัดตรงรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ที่ต้องปรับปรุงใหม่จัดทำเป็นครั้งที่สอง

         สมาชิก อบต. และเกษตรกร พูดเป็นเสียงเดียวว่า ต้องการอ่างเก็บน้ำห้วยสะตอ อยากให้เร่งรัดก่อสร้างด้วย เพราะมีปัญหาฤดูแล้ง ไม่มีน้ำเพื่อการเกษตรเพียงพอ ต้องร้องขอน้ำจากอ่างเก็บน้ำคีรีธาร อ.มะขาม จ.จันทบุรี หรือไม่ต้องสูบน้ำย้อนขึ้นมาจากอ่างเก็บน้ำคลองโสนที่อยู่ใต้ลงมา ต้องเสียค่าสูบน้ำ และน้ำที่ได้รับก็มีปริมาณจำกัด ถ้ามีอ่างฯ ห้วยสะตอเป็นของตัวเอง ก็จะเป็นเครื่องค้ำประกันความมั่นคงด้านน้ำได้อย่างดี เพราะมีความจุถึง 57 ล้านลูกบาศก์เมตร
         ตามแผนงานเดิม จะดำเนินการก่อสร้างในปี 2564 นายเฉลิมเกียรติ จึงปรับแผนงานใหม่ โดยเร่งจัดสรรงบประมาณสำรวจและออกแบบในปี 2562 เพื่อให้สามารถลงมือเตรียมความพร้อมและก่อสร้างในปี 2563 และกักเก็บน้ำได้ในปี 2566 ซึ่งจะร่นเวลาเร็วกว่าแผนเดิม 1 ปี และส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรได้ 68,000 ไร่

         ในพื้นที่ อ.บ่อไร่ กรมชลประทานยังดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำคลองแอ่งที่อยู่ใกล้ๆ กันด้วยความจุ 38 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมแล้วจะมีความจุเพิ่มขึ้น 95 ล้านลูกบาศก์เมตร ใกล้เคียงกับความจุรวมของ 4 อ่างที่มีอยู่ทั้ง จ.ตราด 114 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่ากับเพิ่มความจุให้ลุ่มน้ำเมืองตราดเกือบ 100%
         ทั้งนี้ โครงการคลองแอ่งผ่านความเห็นชอบเรื่องรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการชดเชยค่าเวนคืนที่ดินแก่ราษฎรในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างได้ในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยจะส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรได้ประมาณ 30,000 ไร่
         รวม 2 โครงการได้พื้นที่ชลประทานร่วม 100,000 ไร่ แถมยังลดผลกระทบน้ำท่วมได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะท้ายอ่าง อย่างเช่น อ.บ่อไร่ อ.เขาสมิง และ อ.เมืองตราด
         เท่ากับตอบโจทย์ลุ่มน้ำเมืองตราดได้ตรงจุด ท่ามกลางความต้องการของเกษตรกรที่รอคอยอย่างใจจดใจจ่อ เพราะน้ำหมายถึงชีวิตของพวกเขา