เคาะ 24,993 ลบ.อัดฉีดภาคเกษตรกลางปี 61-สศก.ชี้กระตุ้น ศก.กว่า 6 หมื่นลบ.

 

 

      กรุงเทพฯ - นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เห็นชอบพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2561 เพื่อขับเคลื่อนไทยนิยม ยั่งยืน ในส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับจัดสรรงบประมาณ ทั้งสิ้น 24,993 ล้านบาท ประกอบด้วย 2 แผนงาน คือ 1) แผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ เป็นเจ้าภาพ วงเงินรวม 24,300 ล้านบาท แบ่งเป็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 23,796 ล้านบาท รวม 17 โครงการ ,กระทรวงอุตสาหกรรม 498 ล้านบาท รวม 2 โครงการ, กระทรวงพาณิชย์ 6 ล้านบาท 1 โครงการ และ 2) แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพพัฒนาคุณภาพชีวิต มีกระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพ โดยเป็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 693 ล้านบาท รวม 2 โครงการ

 

 

     โดย สศก.ได้วิเคราะห์ผลกระทบของโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ต่อเศรษฐกิจภาพรวม และประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับเกษตรกร พบว่างบประมาณที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับทั้งสิ้น 24,993 ล้านบาท จะก่อให้เกิดการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 63,599 ล้านบาท (2.54 เท่าของงบประมาณ) โดยแบ่งออกเป็นด้านการผลิต 47,563 ล้านบาท จากค่าจัดซื้อจัดหาวัสดุอุปกรณ์ในโครงการลงทุนก่อสร้าง ส่งผลให้เกิดการผลิตสินค้าวัสดุที่เกี่ยวเนื่องในระบบห่วงโซ่การผลิต และด้านรายได้ 16,035 ล้านบาท จากค่าจ้างแรงงานในโครงการต่างๆ  ซึ่งเป็นรายได้แรงงานที่จะถูกนำไปจับจ่ายใช้สอยเพื่อการบริโภคของครัวเรือนและกระจายไปเป็นรายได้ของร้านค้ารวมถึงธุรกิจในชุมชนที่ต่อเนื่อง

 

 

      ทั้งนี้ ผลกระทบต่อเกษตรกร วัดจากผลได้ที่เกษตรกรได้รับจากกิจกรรมโครงการต่างๆ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เช่น รายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตที่ลดลง และโครงสร้างพื้นฐานที่ก่อสร้างเพิ่มขึ้นหรือพัฒนาให้ดีขึ้น โดยผลวิเคราะห์ พบว่า เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 35,304 ล้านบาท/ปี โดยเพิ่มขึ้นจากกิจกรรมการพัฒนาแหล่งน้ำชลประทานในการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 2.12 ล้านไร่ คิดเป็น 10,288 ล้านบาท กิจกรรมเพิ่มศักยภาพการผลิตและการพัฒนาทักษะอาชีพ 23,897 ล้านบาท  กิจกรรมการลดต้นทุนการผลิตด้วยการสนับสนุนเมล็ดพืชและสัตว์พันธุ์ดี 874 ล้านบาท และกิจกรรมเสริมศักยภาพธุรกิจสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร 245 ล้านบาท  นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรได้รับการพัฒนาเพิ่มขึ้น จากกิจกรรมการสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ 1,341 แห่ง ซึ่งจะก่อให้เกิดความยั่งยืนในการทำการเกษตรในอนาคต ทั้งในพื้นที่นอกเขตชลประทาน และพื้นที่ ส.ป.ก.