ปภ. ประสาน 66 จังหวัด รับมือพายุฤดูร้อน 23-28 เม.ย.นี้

         กระทรวงมหาดไทย โดย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อนในช่วงวันที่ 23 - 28 เมษายน 2561 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง จัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว และวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที รวมถึงตรวจสอบสิ่งก่อสร้างและป้ายโฆษณาให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ตัดแต่งกิ่งไม้บริเวณริมถนนและในพื้นที่ชุมชน เพื่อป้องกันอันตรายจากการล้มทับในช่วงที่มีลมกระโชกแรง
         นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศ กับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้าปกคลุมประเทศไทย จึงอาจเกิด พายุฤดูร้อนในช่วงระหว่างวันที่ 23 - 28 เมษายน 2561 ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสาน 66 จังหวัด
         แยกเป็น ภาคเหนือ จำนวน 17 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และอุทัยธานี
         ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
         ภาคกลาง 25 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และกรุงเทพมหานคร
         และภาคใต้ 4 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช

         โดยให้เตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง และเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการระงับเหตุทันทีที่เกิดภัย รวมถึงตรวจสอบสิ่งก่อสร้างในพื้นที่สาธารณะและป้ายโฆษณาให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ตัดแต่งกิ่งไม้บริเวณริมถนนและในพื้นที่ชุมชน เพื่อป้องกันอันตรายจากการล้มทับ พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากสภาพอากาศแปรปรวน โดยดำเนินการผ่านวิทยุกระจายเสียง เสียงตามสาย หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน เครือข่ายวิทยุสมัครเล่น สถานีโทรทัศน์ เคเบิ้ลทีวี และสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ด้านสาธารณภัย และเจ้าหน้าที่ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที ส่วนเกษตรกรควรจัดทำที่กำบังปกคลุมพืชผลการเกษตร เพื่อป้องกันผลผลิตได้รับความเสียหายจากลมพัดแรง

         ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากพายุฤดูร้อน สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป