"บางสะพาน" หลากก็ท่วม แล้งก็ขาดแคลนน้ำ

บางสะพาน
หลากก็ท่วม แล้งก็ขาดแคลนน้ำ
โดย ปรีชา อภิวัฒนกุล

         บางสะพาน เป็น 1 ใน 8 อำเภอของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตกเป็นข่าวโด่งดังช่วงวันที่ 9-11 มกราคม 2560 คล้อยหลังปีใหม่เล็กน้อย เกิดอุทกภัยบ่าท่วมจมทั้งเมือง ตั้งแต่ระดับ 0.50 -3 เมตร
         อาคารบ้านเรือนหลายหลัง น้ำท่วมมิดหลังคา บ้างก็ท่วมชั้นล่างต้องอาศัยชั้นบน กระทั่งโรงพยาบาลบางสะพาน แนวรบสุดท้ายก็ยังถูกน้ำท่วมต้องอพยพคนไข้กันโกลาหล เพราะน้ำท่วมไฟก็ดับ น้ำประปาไม่มีใช้
         น้ำท่วมบางสะพาน เกิดจากหลายสาเหตุประดังพร้อมกัน
         1.ตัวคลองบางสะพานที่เป็นลำน้ำสายหลักผ่านตัวเมืองบางสะพานนั้น เป็นคลองที่เกิดจากลำน้ำ 4 สายมาบรรจบกันไม่ไกลจากถนนเพชรเกษมเท่าใดนัก ไหลลงทะเลด้วยความยาวคลองร่วม 20 กิโลเมตร
         ตัวคลองมีขีดความสามารถในการระบายน้ำต่ำ เหลือเพียง 200 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เนื่องจากมีตะกอนทับถม มีการบุกรุกจากราษฎรทั้งสองฝั่งคลอง ในขณะอัตราการไหลของน้ำในช่วงวันที่ 9-11 มกราคม 2560 นั้นอยู่มี่ 1,025 ลบ.ม./วินาที
         บางสะพานจึงจมบาดาลอย่างง่ายดาย แม้จะอยู่ติดทะเลก็ตาม แต่ปริมาณน้ำแช่ในตัวอำเภออยู่นานมากกว่าจะลงสู่ทะเลได้
         2.การกักเก็บน้ำและการหน่วงน้ำจากอ่างเก็บน้ำ ทำได้น้อยมาก อ่างเก็บน้ำ 3 แห่งประกอบด้วยอ่างฯวังน้ำเขียว อ่างฯคลองลอย และอ่างโป่งสามสิบ มีความจุรวมเพียง 1.32 ล้านลบ.ม.เท่านั้น รวมกับแหล่งน้ำธรรมชาติแล้ว กักเก็บได้เพียง 2.50 ล้านลบ.ม. แต่มีน้ำท่าไหลลงมา 257 ล้านลบ.ม.น้ำจึงบ่าท่วมบางสะพาน

         "น้ำปริมาณ 250 ล้านลบ.ม.จึงเทลงมาที่อำเภอบางสะพานด้วยความเร็ว เพราะภูเขาต้นน้ำกับตัวอำเภออยู่ใกล้กัน เป็นน้ำที่เชี่ยวไหลมาก ทำลายสิ่งกีดขวางได้อย่างรุนแรง" นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 14 รับผิดชอบพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ลงไปช่วยโรงพยาบาลสู้ภัยน้ำหลากอยู่พอดีเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง
         ทางออกมีอยู่ 2 ทางหลัก
         1.หาทางเพิ่มขีดความสามารถการระบายน้ำของบางสะพาน โดยขุดขยายและลอกคลอง ความยาวร่วม 20 กิโลเมตรเพื่อเพิ่มอัตราการระบายจาก 200 ลบ.ม/วินาที เป็น 525 ลบ.ม./วินาที พร้อมกันนั้นขุดขยายคลองที่จะเป็นการบายพาสน้ำไปออกทะเลคือคลองแม่รำพึงกับคลองปัตตามัง-ม้าร้อง ให้มีอัตราการระบายคลองละ 250 ลบ.ม./วินาที รวมแล้ว 1,025 ลบ.ม./วินาที เท่ากับอัตราการไหลเมื่อคราวอุทกภัยใหญ่ 9-11 มกราคม 2560
         2.จัดการต้นน้ำด้วยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำไทรม้า ความจุ 13 ล้านลบ.ม.กับอ่างเก็บน้ำคลองลอยตอนล่าง ความจุ 17 ล้านลบ.ม. นอกจากตัดยอดน้ำรวม 30 ล้านลบ.ม.ได้แล้ว ยังช่วยหน่วงน้ำไม่ให้ไหลลงมาท่วมเร็วนัก บรรเทาภาวะน้ำท่วมได้ระดับหนึ่ง และน้ำที่กักเก็บสามารถใช้ในฤดูแล้งและเปิดพื้นที่ชลประทานได้รวม 15,000 ไร่
         เป็นพื้นที่ชลประทาน 15,000 ไร่ที่ อ.บางสะพานไม่เคยมีมาก่อนเลย เพราะอ่างฯขนาดเล็ก 3 แห่งไม่มีระบบชลประทานส่งน้ำถึงพื้นที่การเกษตร และทำให้ อ.บางสะพานเป็นอำเภอสุดท้ายที่มีพื้นที่ชลประทานได้ในท้ายที่สุด
         "ถ้ามีทั้งอ่างเก็บน้ำและเพิ่มขีดความสามารถในการระบาย ก็จะช่วยให้บางสะพานปลอดภัยจากภัยน้ำท่วมได้ยาวนาน" นายเฉลิมเกียรติกล่าว

         ในขณะ นายยงยุทธ จุลานนท์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ในขณะที่น้ำท่วมเป็นปัญหาใหญ่ที่เห็นในเบื้องหน้า แต่บางสะพานก็มีปัญหาใหญ่เช่นกัน มีภาวการณ์ขาดแคลนน้ำสูงทีเดียว เนื่องจากอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่เป็นอ่างขนาดเล็ก ความจุรวมน้อย แต่มีปริมาณน้ำท่ามากถึง 257 ล้านลบ.ม.ซึ่งไหลทิ้งทะเลโดยไม่เกิดประโยชน์ อ่างเก็บน้ำไทรทอง เป็นอ่างฯขนาดกลาง ความจุ 13 ล้านลบ.ม. จึงเป็นความหวังของคนบางสะพานจากที่ไม่เคยมีอ่างฯขนาดกลางมาก่อนเลย เมื่อก่อสร้างเสร็จน่าจะเป็นตัวจุดประกายให้เห็นว่า เมื่อมีแหล่งน้ำแล้ว เกษตรกรจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีน้ำใช้และน้ำทำกิน
         "ปกติคนบางสะพานไม่ค่อยกลัวน้ำท่วม กลัวน้ำแล้งมากกว่า เพราะถึงตอนนั้นอย่าว่าน้ำเพื่อการเกษตรเลย น้ำอุปโภคบริโภคยังต้องขอใช้น้ำจากอ.บางสะพานน้อยที่อยู่ติดกันด้วยต่างหาก"

         สำหรับ นายสมปอง นุชนงค์ กำนันตำบลทองมงคล ที่เรียกร้องขอให้กรมชลประทานเปิดโครงการอ่างเก็บน้ำไทรทองมาโดยตลอดกล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับเกษตรกรในพื้นที่ที่จะมีน้ำใช้สมบูรณ์ขึ้น โดยเปรียบให้ลูกบ้านได้เห็นการเกิดขึ้นของเขื่อนภูมิพลกับความอยู่ดีกินดีของเกษตรกรในที่ราบภาคกลาง ซึ่งส่งน้ำให้ตลอดทั้งปี สามารถทำนาปลูกข้าวได้ปีละ 2 ครั้ง เขาเองยังต้องติดตามโครงการอ่างฯไทรทองเป็นระยะเพื่อสอบถามความคืบหน้า เพื่อให้ลูกบ้านสามารถวางแผนชีวิตได้ ซึ่งนับแต่นี้ไปก็คงเห็นรูปร่างชัดเจนขึ้นหลังจากกรมชลประทานเริ่มเตรียมความพร้อมในปีนี้ ก่อนลงมือก่อสร้างเป็นลำดับต่อๆไป
         "คนคัดค้าน บางทีเขาก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องมีอ่างเก็บน้ำ วันหนึ่งถ้ามีขึ้นมา ตัวเขาเองก็จะได้รับประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำเช่นกัน เป็นเรื่องที่ต้องมองไกลถึงรุ่นลูกหลานในวันข้างหน้า" กำนันสมปองกล่าว