น้ำท่วมเมืองเพชรบุรี

         แม่น้ำเพชรบุรี ความยาวกว่า 400 กิโลเมตร ไหลผ่าน อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมือง สุดทางลงทะเลที่ อ.บ้านแหลม
         ในอดีตน้ำหลากมาจะล้นตลิ่งไปนองอยู่ตามท้องไร่ท้องนา หนักเข้าก็ท่วมชุนชน จนเดือดร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ท้ายที่สุด อบต. เทศบาล ของชุมชนนั้นๆ จัดสรรงบประมาณก่อสร้างพนังกั้นน้ำเพื่อลดผลกระทบน้ำท่วมเป็นระยะๆ ทำมาต่อเนื่องหลายปีเข้า พื้นที่ อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด ท้ายเขื่อนเพชรบุรี สภาพน้ำท่วมเริ่มเบาลง
         น้ำส่วนเกินจึงไหลต่อไปท่วม อ.เมืองเพชรบุรี ซึ่งไม่มีพนังกั้นน้ำมากเท่าสองอำเภอข้างต้น
         ขนาดของแม่น้ำเพชรบุรีในเขต อ.เมืองเพชรบุรี รับน้ำได้ 150 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ในขณะที่น้ำตรงเขื่อนทดน้ำเพชรบุรีมาชุมนุมกัน 400-500 ลบ.ม./วินาที แล้วจะเหลืออะไร เคยสูงสุดถึง 800 ลบ.ม./วินาที จึงไม่แปลกที่เมืองเพชรจะจมบาดาล
         เขื่อนเพชรบุรี ซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำในลำน้ำเพชรบุรี รับน้ำจากเขื่อนหลัก 3 แห่ง คือ แก่งกระจาน ความจุ 710 ล้าน ลบ.ม. ห้วยผาก ความจุ 27.5 ล้าน ลบ.ม. และแม่ประจันต์ 42 ล้าน ลบ.ม.
         ลำพังแก่งกระจานและห้วยผาก ความจุอ่างเก็บน้ำเพียงพอกับปริมาณน้ำท่า แต่แม่ประจันต์ น้ำท่ามาก ตัวอ่างฯ เก็บน้ำแค่ 42 ล้าน ลบ.ม. จึงทะลักลงมาสมทบแม่น้ำเพชรมากมาย และมีส่วนสำคัญทำให้น้ำท่วมเพชรบุรี

         ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า แนวทางที่กรมฯ วางแผน คือก่อสร้างขยายคลองระบายน้ำคือคลอง D1 และคลอง D9 เหนือเขื่อนเพชรบุรี ซึ่งจะรับน้ำได้ 100 ลบ.ม./วินาที และ 550 ลบ.ม./วินาที เพื่อนำน้ำลงสู่ทะเล เท่ากับช่วยตัดยอดน้ำเข้าเมืองเพชรบุรี
         "เมื่อรวมกับขีดความสามารถของแม่น้ำเพชรบุรีในเขต อ.เมือง รับน้ำอัตรา 150 ลบ.ม./วินาที ก็จะเท่ากับ 800 ลบ.ม./วินาที เท่ากับสถิติน้ำสูงสุดในรอบ 30 ปี ซึ่งจะช่วยบรรเทาอุทกภัยเมืองเพชรบุรีในระยะยาว"
         อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ที่กรมชลประทานขยายอยู่คือคลองD9 แม้จะเสร็จสมบูรณ์ได้ในปีสองปีข้างหน้า แต่ตัดยอดน้ำได้เพียง 100 ลบ.ม./วินาทีเท่านั้น รวมกับที่ อ.เมือง 150 ลบ.ม./วินาที ก็ยังไม่อาจรับมือกับอัตราการไหลของน้ำเฉลี่ย 400-500 ลบ.ม./วินาทีได้
         คลองระบาย D1 สำคัญมาก เพราะถ้าก่อสร้างขยายได้ อย่างน้อยก็ประกันความมั่นคงให้พื้นที่ อ.เมืองได้ยาวนาน
         "แต่ไม่ง่ายนัก เพราะที่ดินแถวนั้นไม่ได้ท่วมด้วย ความร่วมมือของเจ้าของในการขายที่ดินจึงได้บ้างไม่ได้บ้าง" แหล่งข่าวในพื้นที่กล่าว
         ดังนั้น กรมชลประทาน จึงต้องมีแผนสองรองรับกรณีคลอง D1 ขยายได้เพียง 300 ลบ.ม./วินาที ส่วนเหลือ 250 ลบ.ม./วินาที ต้องหาทางไปใหม่คือขยายคลอง D18 ซึ่งอยู่ท้ายเขื่อนเพชรบุรี และมีขีดความสามารถระบาย 100 ลบ.ม./วินาทีอยู่แล้วขยายให้เป็น 250 ลบ.ม./วินาที
         แผนนี้กรมชลประทานไม่พูดถึง แต่แนวทางปฏิบัติอาจหยิบฉวยมาใช้เมื่อยามจำเป็น

         นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กล่าวว่า แนวทางในการแก้ไขปัญหาระยะสั้นในฤดูน้ำหลากที่จะมาถึง คงต้องบริหารจัดการน้ำบริเวณต้นน้ำ คืออ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน ห้วยผาก และแม่ประจันต์ อย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อลดผลกระทบท้ายน้ำ ขณะเดียวกันก็ต้องเก็บกักน้ำไว้ใช้ฤดูแล้งด้วย
         บริเวณกลางน้ำ ต้องอาศัยคลองส่งน้ำ 4 สาย แปรสภาพเป็นคลองระบายน้ำ โดยเพิ่มขีดความสามารถจาก 50 ลบ.ม./วินาที เป็น 100 ลบ.ม./วินาที และดำเนินการขยายคลองระบายน้ำทั้ง คลอง D1 คลอง D9 รวมถึง คลอง D18
         อีกแนวทางหนึ่งที่ยังเป็นแค่ความคิด คือแก้มลิง เพราะลดผลกระทบน้ำท่วมได้ไม่มากนัก แต่ประโยชน์ของแก้มลิงน่าสนใจ
         "ในพื้นที่ลุ่มต่ำ ตั้งแต่เขต อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด เดิมทีเป็นพื้นที่รองรับน้ำหลากโดยธรรมชาติอยู่แล้ว อาจจะลองหารือถึงแนวทางการทำแก้มลิง โดยเปิดให้น้ำเข้าไปเก็บไว้ชั่วคราว แล้วเลี้ยงปลาและใช้น้ำทำนาปรังหรือพืชฤดูแล้ง ซึ่งเท่ากับเพิ่มโอกาส เพิ่มรายได้ ให้เกษตรกร เหมือนแก้มลิงทุ่งบางระกำและเจ้าพระยาที่นำร่องประสบความสำเร็จมาแล้ว" นายเฉลิมเกียรติกล่าว

         สิ่งที่กรมชลประทานไม่เอ่ยถึง คือการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่บริเวณต้นน้ำ โดยเฉพาะลุ่มน้ำแม่ประจันต์ ซึ่งมีเขื่อนแม่ประจันต์ตัวเดียว มีความจุเพียง 42 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาโครงการ อีกทั้งยังเห็นว่าไม่ง่ายดาย เนื่องจากพื้นที่เหมาะสมก่อสร้างเขื่อน เป็นชุมชนหมู่บ้าน 3 หมู่บ้าน หรือไม่ก็เป็นพื้นที่ป่า ซึ่งต้องใช้เวลาดำเนินการยาวนาน
         "ถ้าสร้างเขื่อนได้ 2 เขื่อน คือเขื่อนสาลิกา ความจุ 12 ล้านถูกบาศก์เมตร กับเขื่อนแม่ประจันต์ตอนล่าง ความจุ 65 ล้านลูกบาศก์เมตรได้ จะเก็บน้ำท่าได้แทบทั้งหมดในลุ่มน้ำแม่ประจันต์ ซึ่งจะมีผลดีต่อการลดผลกระทบเมืองเพชรได้ชัดเจนทีเดียว"
         ดูจากท่าทีของกรมชลประทานก็ดี และความเป็นไปได้ก็ดี คงต้องร้องเพลงรอไปยาวนาน พอๆ กับอาจไม่เกิดโครงการเลยก็เป็นไปได้
         เพชรบุรี หรือเมืองพริบพรี คงต้องแช่อยู่กับน้ำท่วมอีกระยะหนึ่ง นานแค่ไหนต้องตามดูกันต่อไป