พิษบาทแข็งค่าดันราคาข้าวไทยพุ่ง : แนวโน้มส่งออกลดลง!

 

 

กรุงเทพฯ 5 มี.ค.- สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเผยเดือนแรกปี 61 ส่งออกข้าว 961,000 ตัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา แต่ลดลงเมื่อเทียบกับ ธ.ค.60 สาเหตุ จากเงินบาทแข็งค่าดันราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง

         โดยการส่งออกข้าวเดือนมกราคม 2561 มีปริมาณ 961,859 ตัน มูลค่า 15,397 ล้านบาท โดยปริมาณส่งออกลดลงร้อยละ 16.7 และมูลค่าลดลงร้อยละ 13.8 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2560 มีปริมาณ 1,154,219 ตัน มูลค่า 17,870 ล้านบาท เนื่องจากเดือนมกราคม 2561 การส่งออกข้าวทุกชนิดลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากปัจจัยด้านค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นส่งผลให้ราคาข้าวไทยปรับตัวสูงขึ้นมากโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ จึงทำให้ผู้ซื้อบางส่วนชะลอการซื้อข้าว โดยเดือนมกราคม 2561 ส่งออกข้าวขาวปริมาณรวม 457,210 ตัน ลดลงร้อยละ 11.4 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2560 โดยส่วนใหญ่ส่งไปยังประเทศฟิลิปปินส์ เบนิน แคเมอรูน ญี่ปุ่น โมซัมบิก แองโกล่า เป็นต้น ขณะที่การส่งออกข้าวนึ่งมีปริมาณ 308,999 ตัน ลดลงร้อยละ 18.3 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2560 โดยตลาดหลักยังคงเป็นประเทศเบนิน แอฟริกาใต้ บังกลาเทศ แคเมอรูน เป็นต้น ส่วนการส่งออกข้าวหอมมะลิมีปริมาณรวม 146,822 ตัน ลดลงถึงร้อยละ 32.9 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2560 โดยข้าวหอมมะลิคุณภาพดียังคงส่งไปยังตลาดประจำเช่น สหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง เป็นต้น ส่วนปลายข้าวหอมมะลิส่งไปยังประเทศแคมเมอรูน มอริเตเนีย กินี เป็นต้น

         ทั้งนี้ สมาคมฯ คาดว่าเดือนกุมภาพันธ์นี้การส่งออกข้าวจะลดลงจากเดือนมกราคม คาดจะส่งออกประมาณ 800,000 ตัน มีประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญ คือ อินโดนีเซีย เนื่องจากปัจจัยด้านค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทำให้การส่งออกมีอุปสรรคมากขึ้นจากการที่ราคาข้าวไทยยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าประเทศคู่แข่งโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ประกอบกับอุปทานข้าวหอมมะลิในตลาดมีปริมาณจำกัดจึงยิ่งทำให้ราคายังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งราคาข้าวหอมมะลิ 100% (ปีการผลิต 2560/2561) ที่สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยประกาศเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 ราคาอยู่ที่ 1,135 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวหอมของเวียดนามประมาณ 650 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ส่วนกัมพูชา 880 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ทว่า ช่วงนี้ ผู้ส่งออกยังคงมีสัญญาส่งมอบทั้งข้าวขาวและข้าวนึ่งที่ต้องส่งมอบให้ผู้ซื้อทั้งจากการค้าปกติและจากการที่ผู้ส่งออกไทยประมูลได้ เช่น ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น บังกลาเทศ ประกอบกับหลายประเทศในแถบแอฟริกาที่นำเข้าทั้งข้าวขาว (ข้าวใหม่และข้าวเก่า) และข้าวนึ่ง เช่น เบนิน แอฟริกาใต้ ยังนำเข้าต่อเนื่อง เช่นเดียวกับตลาดประจำที่นำเข้าข้าวหอมมะลิฤดูใหม่ เช่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง จีน ยังนำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน