"สะพานปลา"ยุคใหม่ : ถูกสุขอนามัย ทันสมัย ได้มาตรฐานที่สุดในอาเซียน (ชมคลิป)

 

 

รมช."ลักษณ์"ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานขององค์การสะพานปลา (อสป.)พร้อมเร่งยกระดับให้เป็นตลาดปลาที่ถูกสุขอนามัย ได้มาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ สู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางธุรกิจการประมงที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเชี่ยน

          นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมการดำเนินงานขององค์การสะพานปลา (อสป.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีสะพานปลาทั่วประเทศ จำนวน 14 แห่ง เมื่อเร็วๆนี้ มีผู้ช่วยศาสตราจารย์มานพ กาญจนบุรางกูร ผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา (อสป.) และคณะให้การต้นรัล โดยในปี 2560 ที่ผ่านมา มีปลามาขึ้นที่สะพานปลา อสป.ประมาณเกือบ 3 แสนตัน ถือเป็นทางเลือกให้ชาวประมงที่จะมีตลาดซื้อขายและมีราคาที่มีความเป็นธรรม ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมการประมงกำลังอยู่ในช่วงปรับตัว จึงทำให้สะพานปลาที่เป็นของภาคเอกชนไม่สามารถทำหน้าที่ได้ เนื่องจากต้องมีการปรับปรุงและยกระดับเข้าสู่มาตรฐานของการทำสะพานปลาที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ อสป.ทั้ง 14 แห่ง สามารถดูแลให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ จึงเป็นช่วงที่มีส่วนร่วมให้ความช่วยเหลือชาวประมงได้มีจุดที่จะเอาปลามาขึ้น มีความถูกต้องตามกฎหมาย และตรวจสอบย้อนกลับได้ พร้อมได้รับฟังผลการดำเนินการของ อสป.ในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมที่สามารถดำเนินการให้มีผลกำไร ถึงแม้จะไม่มากแต่สามารถเป็นตัวชี้วัดเชิงประสิทธิภาพได้เป็นอย่างดีที่ อสป.มีการฟื้นตัวและมีผลกำไรเพิ่มมากขึ้น

 

 

          สำหรับแนวทางในการพัฒนา อสป.จะมีการยกระดับให้เป็นตลาดค้าขายปลาที่มีความทันสมัย มีมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ จึงมีแนวทางในการปรับปรุงสะพานปลาทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศ เพื่อที่จะให้เกิดความทันสมัยขึ้น โดยเฉพาะสะพานปลาที่อยู่ส่วนกลาง จะปรับปรุงให้ทันสมัยและให้บริการแก่พี่น้องชาวประมงได้มากยิ่งขึ้น จึงให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ของการลงทุน รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนที่อยู่รอบข้าง อสป.ด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าถ้ามีการปรับปรุงแล้วจะทำให้ภูมิทัศน์และสิ่งแวดล้อมได้รับการปรับปรุงดูแลจนเป็นที่ยอมรับด้วย ถ้าดำเนินการจัดทำความเป็นไปได้แล้วเสร็จ รวมทั้งที่ อสป.มีความประสงค์ที่จะขยายภารกิจในการดำเนินงาน อาทิ การแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย จะได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางยุโรป ที่เป็นต้นแบบในการทำประมง อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยสามารถทำออกมาได้ดีก็จะป็นต้นแบบให้กับประเทศเพื่อนบ้านได้เช่นกัน จึงมีความเห็นว่าควรขยายขอบเขตเรื่องที่ประเทศไทยสามารถทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางด้านวิชาการได้ ซึ่งการทำหน้าที่เป็นตลาดของ อสป.เป็นหน้าที่ที่สำคัญควรมีรูปแบบการดำเนินงานและแอพพลิเคชั่นที่จะนำไปถ่ายทอดให้ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้สามารถแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมายได้เร็วยิ่งขึ้นซึ่งจะยกระดับให้ อสป.เป็นสะพานปลาชั้นนำของภูมิภาคและในระดับโลกต่อไป

 

 

          ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์มานพ กาญจนบุรางกูร ผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา (อสป.) ที่มีเป้าหมายพลิก "สะพานปลา" สู่ศูนย์กลางการค้าสัตว์น้ำ กล่าวว่า ถึงนโยบายและทิศทางในอนาคตของ อสป.ว่าได้เร่งแผนระยะสั้น คือ หยุดสภาวะขาดทุนปีละ 16-18 ล้านบาท ผลกระทบจากภาวะสัตว์น้ำที่ลดลง และล่าสุดผลกระทบจากสหภาพยุโรป (อียู) บังคับให้ไทยปลอดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU) ขณะเดียวกันได้เร่งพัฒนาโครงสร้างการให้บริการสะพานปลาทั้งระบบเพื่อให้ได้มาตรฐานสากล ปัจจุบันท่าเทียบเรือหลายแห่งยังใช้วิธีการเทกองกับพื้น และคัดแยกปลา ต้องเร่งทำให้ได้สุขอนามัยที่ดีรวมถึงเฝ้าระวังไม่ให้มีการใช้สารเคมีบางชนิด เช่น ฟอร์มาลิน ที่สำคัญต้องทำงานร่วมกับกรมประมง กรมเจ้าท่า และกองทัพเรือ ทำแผนบูรณาการร่วมกัน โดยท่าเทียบเรือที่เป็นมาตรฐานสากล 1.จะต้องดำเนินการอย่างถูกกฎหมาย 2.ไม่มีการใช้แรงงานผิดกฎหมาย 3.ต้องปฏิบัติตามกฎ 12 ข้อ ของการเป็นเรือปลอด IUU ส่วนแผนพัฒนาระยะกลาง-ยาว คือต้องปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการสะพานปลาให้สอดรับกับบริบทการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก โดยเฉพาะการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ถ้าไม่ปรับตัวในเรื่องกลยุทธ์การบริหารจัดการ จะแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ แผนระยะยาวต้องหารายได้ที่มั่นคง ด้วยการพัฒนาปรับปรุงท่าเทียบเรือ โดยที่ปรับปรุงแล้วเสร็จจำนวน 7 ท่าเทียบเรือ ได้แก่ สมุทรปราการ ภูเก็ต นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี หัวหิน และระนอง เพื่อให้เป็นท่าเทียบเรือท่องเที่ยว ที่ขนถ่ายสินค้าที่ทันสมัย ถูกสุขอนามัย และมีประสิทธิภาพในการดำเนินงาน 

 

 

        สำหรับการพัฒนาสะพานปลากรุงเทพ ผอ.อสป.กล่าวว่า มีแผนจะทำสะพานปลากรุงเทพ พื้นที่ 8 ไร่ 29 ตารางวา ให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจการประมงที่ได้มาตรฐานถูกสุขอนามัยทันสมัยที่สุดของไทย ในชื่อโครงการศูนย์กลางการค้าสัตว์น้ำสะพานปลากรุงเทพ (Bangkok Fish Market Complex) ภายใต้งบประมาณ 950 ล้านบาท แผนดำเนินงานปี 2558-2562 ตามเป้าหมายจะก่อสร้างอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาทิ ตลาดกลางสัตว์น้ำที่ทันสมัย อาคารสำนักงาน ภัตตาคารอาหารทะเล พัฒนาระบบตลาดให้เป็นตลาดสัตว์น้ำคุณภาพ มีการตรวจสอบคุณภาพ ขึ้นทะเบียนสมาชิก จัดระบบฐานข้อมูลราคาสัตว์น้ำ ฯลฯ

         ขอบคุณที่มาข้อมูล-ภาพ : องค์การสะพานปลา (อสป.),เทคโนโลยี่พระจอมเกล้าธนบุรี (ตลิปวีดีโอ)