ก้าวข้ามขยะกองโต ...อนาคตสุขโขของชุมชนระพีพัฒน์

 

เคหะชุมชนระพีพัฒน์ 1-2 ต.คลองสี่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เป็นชุมชนผู้มีรายได้น้อยจากหลายๆ แหล่งที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง การเคหะแห่งชาติจึงจัดสรรที่ดินเปล่าร่วมๆ 1,500 แปลง ขนาดแปลงขั้นต่ำ 19.50 ตารางวา จำหน่ายในลักษณะผ่อนชำระเพื่อลดภาระผู้ซื้อที่ต้องปลูกสร้างบ้านเอง มีจำนวนผู้อยู่อาศัยไม่น้อยกว่า 3,000 คน มีสภาพเป็นเมืองน้อยๆ ...เป็นเหมือนชุมชนทั่วไป มีทั้งผู้สูงอายุ คนทำงาน เด็กๆ ด้วยความที่แต่ละคนมีพื้นเพมาจากหลายแหล่งความแปลกแยกบางอย่างก็ต้องค่อยๆ ผสมกลมกลืนกันไป

สังคมผู้สูงอายุที่นี่ล้อไปกับสภาพทั่วไปของประเทศไทยที่จำนวนผู้สูงอายุเบ่งบานจนกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบอีกไม่นาน เพราะประชากรยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีอายุน้อยที่สุดซึ่งถือกำเนิดเมื่อปี 2507 กำลังอยู่ในวัย 54 ปีเข้าแล้ว ...ไม่เพียงแต่สัดส่วนมากสุด หากยังมีอายุยืนยาวจากความก้าวหน้าของวิทยาการการแพทย์ จึงทำให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุในอัตราที่เร็วมากประเทศหนึ่ง จนเป็นที่กังวลเรื่องประชากรวัยทำงานซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคตที่มีสัดส่วนน้อย ต้องแบกรับภาระหนักหน่วงกว่าคนรุ่นก่อน ...ผู้สูงอายุอาจมีข้อเด่นเรื่องประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในการพัฒนาแก้ปัญหาต่างๆ แต่ด้วยวัยที่สูงขึ้น จึงมีข้อจำกัดเช่นกัน เช่น ความเชื่องช้า ความจำ หรือสุขภาพ ฯลฯ  ทว่า ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสมกับเป็นผู้บุกเบิกพัฒนาประเทศในยุคที่ผ่านมา ทั้งเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ลูกหลานอีกด้วย

โครงการ สูงวัย  ใจมีสุข  เป็นโครงการที่การเคหะแห่งชาติร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดขึ้น เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้สูงอายุในเคหะชุมชนระพีพัฒน์ 1-2 ต.คลองสี่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งนอกจากการตรวจวัดสุขภาพ ทั้งความดัน เบาหวาน น้ำตาลในเลือดโดยพยาบาลจากสถานีอนามัยเป็นประจำทุกเดือนแล้ว ยังมีการออกเยี่ยมเยียนผู้ป่วยติดเตียง มอบข้าวสาร ผ้าห่ม และเงินช่วยเหลือค่าครองชีพรายละ 500 บาทสำหรับใช้สอย

“ผู้สูงอายุในชุมชนมีนับร้อยคน การตรวจสุขภาพจริงๆ ทำกันเป็นประจำเดือนละครั้ง   บางคนมาเอง บางคนลูกหลานให้นั่งรถเข็นมา ส่วนผู้ป่วยติดเตียง 5-6 ราย เราก็ไปเยี่ยมถึงที่ เขาก็ดีใจที่เรายังไม่ลืมเขา” นางรัตนา เพ็ชรเอี่ยม พนักงานจัดการทรัพย์สิน 7  กองพัฒนาชุมชน 3 ฝ่ายบริหารงานชุมชน 3 การเคหะแห่งชาติ  ซึ่งเพิ่งเข้ารับหน้าที่กล่าว ...กิจกรรมนี้ทำให้ผู้สูงอายุได้ออกมานอกบ้านพบปะกับผู้สูงอายุด้วยกัน สร้างความแช่มชื่นกันถ้วนหน้า ส่วนผู้ป่วยติดเตียง การมีคนเข้าไปพูดคุยด้วย ย่อมเกิดความรู้สึกสดชื่นตามมาเช่นกัน ในทางกลับกัน กิจกรรมที่ว่าย่อมเป็นเครื่องสะท้อนว่า สังคมไทยยังไม่ลืมผู้สูงอายุ แม้สภาพสังคมจะเปลี่ยนจากครอบครัวขยายมาเป็นครอบครัวเดี่ยวที่ผู้สูงอายุต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวตามลำพังมากขึ้นก็ตาม ...พ้นจากผู้สูงอายุแล้ว ชุมชนยังมีเด็กวัยรุ่นซึ่งการเคหะแห่งชาติ และ สสส. ให้การสนับสนุน โดยผ่านโครงการเยาวชน ดนตรี ลูกทุ่งไทย ประกอบด้วย เด็กหญิงล้วนๆ 15 คน อายุตั้งแต่ 13-17 ปี ทั้งนักร้อง นักเต้นประกอบ (แดนเซอร์) โดยการเคหะแห่งชาติและ สสส. สนับสนุนชุดเสื้อผ้านักร้องและแดนเซอร์ ส่วนนักดนตรีก็เป็นลุงป้าน้าอาหอบหิ้วเอาเครื่องดนตรีมาร่วมวง คล้ายวงดนตรีชุมชน

“โครงการนี้ เป็นการลดปัญหาความเสี่ยงเรื่องยาเสพติด และปัญหาคุณแม่วัยใสสำหรับเด็กผู้หญิงในวัยนี้  ให้หันมาใส่ใจในกิจกรรมดนตรีและเพลง พวกเขาชอบร้องเพลงและเต้นอยู่แล้ว  ขณะนี้สามารถพัฒนามารับงานได้แล้ว  การเคหะแห่งชาติสนับสนุนโดยว่าจ้างให้ไปแสดงในกิจกรรมต่างๆ และรับงานนอกด้วย เด็กๆ ผู้หญิงในวงก็ไม่เสี่ยง เพราะมีผู้ใหญ่ซึ่งล้วนเป็นญาติๆ กันช่วยดูแลไปในตัว เป็นการหารายได้เสริมยามว่าง  นอกจากนั้น ยังส่งไปประกวดร้องเพลงในนามของโรงเรียน สร้างชื่อเสียงให้โรงเรียนอีกทางหนึ่งด้วย” ...ส่วนกีฬาในชุมชน ได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์กีฬา เช่น ฟุตซอล เป็นการเสริมสร้างการออกกำลังกาย รวมทั้งการจัดแข่งขันสร้างความสามัคคีกับทีมอื่นๆ ที่อยู่นอกโครงการ

กิจกรรมต่อไปในอนาคตคือ การจัดระเบียบชุมชน เพื่อความสะอาดเป็นระเบียบ เพราะในชุมชนระพีพัฒน์ มีปัญหาของเก่าที่คนในชุมชนรับซื้อมากองไว้ในที่ดินเปล่า ทั้งที่ดินของการเคหะแห่งชาติ  และที่ดินของคนอื่น ทำให้เกิดสภาพรกรุงรังไม่สบายตา สอดคล้องกับ นายเชาว์  ใจภักดี ผู้ใหญ่บ้านในเคหะชุมชนระพีพัฒน์ที่ระบุว่า ปัญหาที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนเป็นเรื่องการจัดการของเก่าที่เก็บไว้ไม่เป็นระเบียบ รุกล้ำที่ดินคนอื่นและทางสาธารณะ “ในชุมชนมีคนทำธุรกิจรับซื้อของเก่านับสิบราย ปัญหาอยู่ที่การจัดเก็บไม่เป็นระเบียบและรุกล้ำ อีกทั้งบางทีเศษกระดาษปลิวตกไปยังบ้านใกล้เรือนเคียงก็เป็นปัญหากระทบกระทั่งกัน การจัดระเบียบจึงเป็นเรื่องจำเป็น” นายเชาว์  ใจภักดี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 16 ต.คลองสี่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ที่อาศัยอยู่ในเคหะชุมชนระพีพัฒน์ 1 กล่าว

ของเก่ากลายเป็นปัญหาสำคัญในชุมชน บางทีเพื่อนบ้านบางรายไม่อยากมีปัญหา ต้องย้ายบ้านหนีทีเดียว  เพราะปัญหาอื่น เช่น อาชญากรรมและยาเสพติดที่นี่อยู่ในระดับต่ำมาก เนื่องจากผู้ใหญ่เชาว์กวดขันตรวจตราและรู้จักลูกบ้านในชุมชนทั้ง 2 แห่งเป็นอย่างดี ที่ผ่านมา เขาเคยได้รับเลือกเป็นสมาชิก อบต.คลองสี่ มา ก่อนสมัครเลือกตั้งมาเป็นผู้ใหญ่บ้านด้วยคะแนนนิยมนำลิ่ว “เอาอยู่ครับ ผมตระเวนตรวจตราเองบ้าง ไปกับกลุ่มบ้าง  บางทีก็คุยกับเจ้าตัวเลยว่า อะไรที่กระทบคนในชุมชนอย่าได้ทำ” โดยผู้ใหญ่เชาว์ประสาน อบต.คลองสี่ ให้เข้ามาช่วยชุมชนได้หลายเรื่อง ทั้งอุปกรณ์ออกกำลังกาย ปัญหาไฟฟ้า น้ำประปา แต่ปัญหาของเก่า เขายอมรับว่าไม่มีอำนาจไปจัดการ ยังต้องรอการเคหะแห่งชาติ จัดการเลือกตั้งคณะกรรมการชุมชนชุดใหม่ในเร็วๆ นี้ ภายใต้กรรมการชุดใหม่เขาเชื่อว่า น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงสภาพปัญหาของเก่าและการจัดระเบียบใหม่ได้ดีขึ้น จะช่วยให้เคหะชุมชนระพีพัฒน์มีความสุขมากขึ้นทันตาเห็นโดยเฉพาะการพัฒนายกระดับชุมชนไปสู่ชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ยั่งยืนระดับ 3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด

จากชุมชนผู้มีรายได้น้อยเมื่อร่วม 20 ปีก่อน มาถึงขณะนี้ฐานะทางเศรษฐกิจของชุมชนดีขึ้นอย่างชัดเจน ทุกครอบครัวมีคนทำงาน บ้างเป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทเอกชน ทำให้แต่ละครอบครัวมีความเป็นอยู่ดีขึ้น เหลือก็แต่สภาพแวดล้อมอย่างปัญหาของเก่าที่ต้องการการจัดระเบียบ เพื่อความผาสุกของชุมชนต่อไป