รมว.วิทย์ฯ เยือนญี่ปุ่นชม Plant Factory ผลักดันอุตสาหกรรมเกษตรไทย

         ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า เทคโนโลยีการผลิตพืชมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการผลิตอาหารและยารักษาโรค อีกทั้งการเพิ่มปริมาณให้เพียงพอต่อการบริโภคของประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การเพิ่มคุณภาพของผลผลิต และการใช้ทรัพยากรในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แนวคิดนี้กล่าวสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลตอบโจทย์ "ไทยแลนด์4.0" จากเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีมาบริหารจัดการ (Smart Farming) การผลิตที่เน้นคุณภาพ (Value-Based Product) และการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation) และมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Friendly) ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีนโยบายให้นำเทคโนโลยีมาใช้เสริมความเข้มแข็งให้กับภาคเกษตรกรรม
             โดยในช่วงที่ผ่านมา ตนเองพร้อมคณะที่มี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ผู้บริหาร สวทช. ภาครัฐ และเอกชน ไปเข้าเยี่ยมชม 808 Factory เมืองชิซึโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโรงงานผลิตพืช หรือ Plant Factory สามารถช่วยเกษตรกรยุคใหม่ให้สร้างผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

             เทคโนโลยีดังกล่าวคือ การผลิตพืชในระบบปิดหรือกึ่งปิด ที่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อม เช่น แสง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ และธาตุอาหารให้มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช พัฒนาจากองค์ความรู้แขนงต่างๆ เช่น สรีรวิทยาพืช การเกษตร วิศวกรรม รวมถึงการจัดการเทคโนโลยี โดยจุดเด่นคือ สามารถผลิตพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงทั้งด้านอัตราการผลิต (ผลผลิตต่อพื้นที่ต่อเวลา) และการใช้ทรัพยากรในการผลิต การเพิ่มคุณภาพของพืชเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิต เช่น การเพิ่มวิตามิน สารต้านอนุมูลอิสระ สารสกัดที่ใช้เป็นยารักษาโรค และคุณสมบัติทางกายภาพอื่นๆ เช่น ผิวสัมผัส รสชาติ และอายุหลังการเก็บเกี่ยวที่ยาวนานขึ้น และมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและต่อมนุษย์ เช่น การลดการใช้สารเคมีกาจัดศัตรูพืช และการลดการใช้ ทรัพยากรน้ำและธาตุอาหาร ซึ่ง "Plant Factory" เป็นเทคโนโลยีที่ประเทศญี่ปุ่นได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 20 ปี โดยระบบนี้สามารถปลูกพืชได้มากกว่า 10 ชั้น (ขึ้นกับชนิดของพืช) และจะเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเหมาะสำหรับผู้ที่มีพื้นที่จำกัด

             ทั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สวทช. โดย ไบโอเทค ได้นำเทคโนโลยี Plant Factory มาประยุกต์ใช้ในการปลูกพืชมูลค่าสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พืชในกลุ่มสมุนไพรเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ รวมถึงสามารถกำหนดให้สมุนไพรสร้างสารออกฤทธิ์ตามความต้องการได้ด้วย เช่น สมุนไพรบางตัวจะมีการผลิตสารสำคัญทางยาอย่าง น้ำมันหอมระเหย (Essential oil) แคโรทีนอยด์ (Carotenoids) หรือแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ออกมาในเวลาพืชเกิดความเครียดจากสิ่งแวดล้อม

             ดร.สุวิทย์ กล่าวอีกว่า จากการเยี่ยมชมบริษัท 808 Factory ประเทศญี่ปุ่น ที่มี Plant factory ขนาดใหญ่ มีระบบการจัดการแบบปิดที่มีการควบคุมสภาวะแวดล้อมต่างๆ ทั้ง แสง น้ำ อากาศ การให้ปุ๋ย เป็นต้น ซึ่งทำให้พืชผักที่ปลูกที่โรงงานแห่งนี้ไม่มีการปนเปื้อนจากโรคและแมลงศัตรูพืช โรงงานแห่งนี้มีพื้นที่การผลิตอยู่ที่ 1,000 ตารางเมตร สามารถปลูกพืชได้มากถึง 120,000 ต้น โดยมีอัตราการเก็บเกี่ยวอยู่ที่ 9,000 ต้นต่อวัน ซึ่งการนำระบบ Plant Factory เข้ามาใช้ในการผลิตพืชทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ ไปได้อย่างมาก อาทิ การใช้สารฆ่าแมลง การใช้น้ำ การใช้ปุ๋ย นอกจากนี้ยังประหยัดพื้นที่ในการเพาะปลูกด้วย อีกทั้งสร้างรายได้จากผลิตนี้มีมูลค่าสูงมากเป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภค เทคโนโลยีนี้เหมาะสมที่จะนำมาใช้เสริมคุณภาพของผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นสร้างรายได้ให้กับประเทศต่อไป

ที่มา สวทช.