ชงด่วน3มาตรการคุมส่งออกทุเรียนปลอดศัตรูพืช

 

 

กรมวิชาการเกษตร ชง 3 มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพคุมส่งออกทุเรียน เตรียมปรับบทบาทผู้ปฏิบัติงานในโรงคัดบรรจุทำหน้าที่ตรวจสอบสุขอนามัยพืช ด่านตรวจพืชกำกับดูแลให้คำแนะนำปฏิบัติตามเงื่อนไขส่งออก พร้อมพิจารณาแก้ไขพิธีสารให้สอดคล้องกับสถานการณ์และแนวทางปฎิบัติงาน

        นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจงกรณีประเทศจีนได้แจ้งเตือนการตรวจพบแมลงศัตรูพืชติดไปกับทุเรียนที่นำเข้าจากประเทศไทย ว่า ในปี 2560 ไทยมีการส่งออกทุเรียนไปประเทศจีนจำนวน 18,750 ชิปเมนต์ จากผู้ส่งออก 62 ราย มูลค่า 15,280 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ได้รับการแจ้งเตือนว่าได้ตรวจพบศัตรูพืช ได้แก่ เพลี้ยแป้ง หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน มดและแมลงทั่วไป โรคผลเน่าทุเรียน และเชื้อรา โดยการแจ้งเตือนนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลทั้งปีภายหลังสิ้นสุดฤดูกาลส่งออกปี 2560 แล้ว ดังนั้น กรมวิชาการเกษตรโดยสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ได้ประชุมหารือทบทวนมาตรการที่ผ่านมา เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติงานให้ควบคุมปัญหาการส่งออกทุเรียน โดยสร้างการรับรู้ให้แก่เจ้าของโรงคัดบรรจุต้องมีความเข้าใจและตระหนักถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และถ่ายทอดข้อมูลไปยังผู้ปฏิบัติงานในโรงงานคัดบรรจุให้ดำเนินการและควบคุมการปฏิบัติงานอย่างเข้มงวด โดยผู้ปฏิบัติงานตรวจสอบทุเรียนในโรงคัดบรรจุต้องมีความรู้และเข้าใจในการทำงานและวิธีการปฏิบัติที่ดีในการคัดบรรจุเพื่อปลอดศัตรูพืช รวมทั้งต้องทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบสุขอนามัยพืช ส่วนเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชต้องเปลี่ยนบทบาท จากผู้ตรวจสอบ เป็นผู้กำกับ ดูแล ให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาในการปฏิบัติงานให้แก่ผู้ปฎิบัติงานในโรงคัดบรรจุด้วยด้วย

 

 

        นอกจากนี้กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำแผนปฏิบัติการโดยแยกเป็น 3 มาตรการ คือ 1) มาตรการเร่งด่วน จัดประชุมนายตรวจพืชผู้ปฎิบัติหน้าที่ในการตรวจ และออกใบรับรองสุขอนามัยพืชทั้งทางบก ทางเรือ ทางอากาศ เพื่อให้แนวทางปฏิบัติในการตรวจและออกใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับทุเรียนสดเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และจัดประชุมผู้ประกอบการส่งออก รวมทั้งผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุทุเรียน เพื่อทำความเข้าใจในเงื่อนไขข้อกำหนดการส่งออกทุเรียนไปจีน ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องของกรมวิชาการเกษตร และประเทศผู้นำเข้า 2) มาตรการระยะกลาง ประสานความร่วมมือทางด้านวิชาการเกี่ยวกับการตรวจสอบศัตรูพืชในทุเรียนส่งออกระหว่างกรมวิชาการเกษตรกับสำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคของจีน และช่องทางในการแจ้งเตือน โดยประสานผ่านกงสุลฝ่ายเกษตร ณ นครกวางโจวให้มีความรวดเร็ว พร้อมกับศึกษาดูงานวิธีการควบคุมการนำเข้าทุเรียน ณ เมืองท่าที่สำคัญของจีน และ 3) มาตรการระยะยาว พิจารณาแก้ไขพิธีสารการส่งออกทุเรียนสดไปยังประเทศจีน เนื่องจากปัจจุบันมีหลายฉบับซึ่งไม่สอดคล้องกับแนวทางการปฏิบัติและการควบคุม รวมทั้งจัดทำโครงการตรวจสอบศัตรูพืชทุเรียน เพื่อให้โรงคัดบรรจุทุเรียนมีกลุ่มบุคคลที่สามารถตรวจสอบศัตรูพืช หรือสิ่งปนเปื้อนก่อนส่งออกให้มีมาตรฐานสุขอนามัยพืช และเข้าใจในกฎระเบียบต่างที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและเงื่อนไขการนำเข้าของจีนอย่างถูกต้อง โดยกรมวิชาการเกษตรจะจัดฝึกอบรม ให้คำแนะนำการปรับปรุงวิธีการปฏิบัติงานในโรงคัดบรรจุให้สามารถปฏิบัติงานตรวจสอบศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เบื้องต้นจะนำร่องโครงการดังกล่าวก่อนจำนวน 4 โรงคัดบรรจุ

 

 

        อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวอีกว่า การส่งออกทุเรียนที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรมีมาตรการในการกำกับดูแล ตรวจสอบและออกใบรับรองสุขอนามัยพืชฯโดยประชาสัมพันธ์เพื่อแจ้งผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนสดไปต่างประเทศ ให้ปฏิบัติถูกต้องตามเงื่อนไขการส่งออกทุเรียนของไทย และเงื่อนไขการนำเข้าของจีน จัดประชุมชี้แจง ทำความเข้าใจ ตรวจเยี่ยมโรงคัดบรรจุทุเรียนก่อนถึงฤดูกาลส่งออกทุเรียน และก่อนส่งออกจะส่งเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชลงประจำพื้นที่เพื่อทำการสุ่มตรวจทุเรียนก่อนการส่งออกหากไม่ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขจะงดการออกใบรับรอง ณ โรงคัดบรรจุจังหวัดจันทบุรี ระยองและตราด รวม 124 โรงคัดบรรจุ ส่วนกรณีได้รับการแจ้งเตือนการตรวจพบศัตรูพืชจากประเทศปลายทาง กรมฯจะส่งเจ้าหน้าที่จากด่านตรวจพืชเข้าไปติดตาม ตรวจสอบสาเหตุการปนเปื้อนศัตรูพืช พร้อมให้คำแนะนำแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสม อย่างไรก็ตาม หากได้รับการแจ้งเตือนต่อเนื่องถึง 3 ครั้งจะระงับการส่งออกเป็นการชั่วคราว เพื่อให้ดำเนินการปรับปรุงการดำเนินงานของโรงคัดบรรจุนั้น โดยหากได้รับการแก้ไขและเจ้าหน้าที่ตรวจสอบผ่านเรียบร้อยแล้วก็จะดำเนินการส่งออกได้