มกอช. สัมมนา "ส่งออกจิ้งหรีด" รับมือระเบียบอาหารใหม่อียู

         เมื่อวันที่ 5 ก.พ.61 ได้มีการสัมมนาเรื่อง "ระเบียบอาหารใหม่ของสหภาพยุโรป กรณีศึกษาเปิดตลาดผลิตภัณฑ์แมลง (จิ้งหรีด)" หรือ Workshop on EU Novel Food Regulation - Case of Insects (Crickets) ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เกษตรกร ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์ จำนวน 180 คน
         นายพิศาล พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ในฐานะประธานเปิดการสัมมนา กล่าวว่า มกอช. ร่วมกับคณะผู้แทนสหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย นำโดย นายแพทริค เดอบอยเซอร์ อัครราชฑูตที่ปรึกษาด้านอาหารและสุขภาพ ประจำประเทศไทย และ คุณอันโตเนีย ริคกี ผู้อำนวยการสำนักความปลอดภัยอาหาร สาธารณรัฐอิตาลี พร้อมคณะ จัดสัมมนาเพื่อร่วมทำความเข้าใจถึงระเบียบว่าด้วยอาหารใหม่ ซึ่งหมายถึงอาหารที่ผลิตด้วยนวตกรรมใหม่ หรือไม่เคยมีประวัติการบริโภคในสหภาพยุโรปก่อนปี 2540 ของสหภาพยุโรป (อียู) ผลบังคับใช้และแนวทางการปฏิบัติให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการผลิต แปรรูป ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปสหภาพยุโรป รวมถึงโอกาสในการขยายตลาดสินค้าเกษตร และเปิดตลาดผลิตภัณฑ์แมลงจิ้งหรีดสู่สหภาพยุโรป


         "การส่งออกจิ้งหรีดไปสหภาพยุโรป มีแนวโน้มที่สดใส โดยไทยได้ส่งออกจิ้งหรีดไปในหลายผลิตภัณฑ์ทั้งจิ้งหรีดแช่แข็ง ต้มบรรจุกระป๋อง จิ้งหรีดอบและบดเป็นโปรตีนผงเพื่อใช้เป็นส่วนผสมอาหาร ทว่าจากการบังคับใช้กฎระเบียบว่าด้วยอาหารใหม่ หรือโนเวลฟู้ด (Novel Food) ของอียู ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสินค้าที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก รวมทั้งจิ้งหรีดและผลิตภัณฑ์ ต้องยื่นขอขึ้นทะเบียนตามข้อกำหนดของโนเวลฟู้ด พร้อมทั้งจัดทำเอกสารข้อมูลทางวิชาการประกอบการยื่นขอ (Scientific Dossier) โดยสามารถยื่นคำขอในสถานะอาหารที่มีการบริโภคมานาน (Traditional Food) หรือสถานะอาหารใหม่ (Novel Food) เพื่อให้สำนักงานความปลอดภัยอาหารแห่งสหภาพยุโรป (EFSA) พิจารณาความปลอดภัยหรือหลักฐานการบริโภคก่อนอนุญาตเปิดตลาดนำเข้าอย่างเป็นทางการ"
         อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลการสัมมนานี้จะทำให้เกษตรกร ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องมีความรู้ ความพร้อม ต่อการปฏิบัติการรับรอง การบังคับใช้ระเบียบอาหารใหม่ของสหภาพยุโรป โดยเฉพาะการจัดทำคำร้อง ข้อมูลประกอบผลิตภัณฑ์แมลง เพื่อขอเปิดตลาดและแนวทางการขยายตลาดผลิตภัณฑ์แมลง (จิ้งหรีด) ที่ผ่านมาตรฐาการรับรองจากไทย
         ทั้งนี้ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย มกอช. ประกาศมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี สำหรับฟาร์มจิ้งหรีด (มกษ.8202-2560) เป็นมาตรฐานทั่วไป โดยมีกรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการตรวจรับรองตาม มกษ. เพื่อรองรับการยกระดับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดทั้งสายพันธุ์ทองดำ ทองแดง และสะดิ้ง กว่า 20,000 ฟาร์ม กำลังการผลิตจิ้งหรีดรวมมากกว่า 700 ตัน/ปี ป้อนตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ มูลค่าปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท