ธ.ก.ส.ออกมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางวงเงิน 1.5 หมื่นล้าน

         จากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่สถาบันเกษตรกรรวบรวมยาง โดยมีเป้าหมายการจ่ายเงินกู้วงเงินวงเงิน 10,000 ล้านบาท ระยะเวลาการดำเนินโครงการ ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 มี.ค.2563 อัตราดอกเบี้ย MLR-ร้อยละ 1 ปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 4 รัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยแทนสถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 สถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 กำหนดชำระคืนภายใน 12 เดือน ซึ่งปัจจุบัน ธ.ก.ส.อนุมัติเงินกู้ไปแล้ว 6,200 ล้านบาท
         และ 2.โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้สถาบันเกษตรกร กู้เพื่อเป็นค่าลงทุนและเงินทุนหมุนเวียนในการแปรรูปยางพารา เพื่อเพิ่มมูลค่าเป้าหมายการจ่ายเงินกู้ วงเงิน 5,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ส.ค.2567 โดยเงินกู้ค่าลงทุนคิดดอกเบี้ย MLR- ร้อยละ 1.5 ปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 3.5 รัฐบาลช่วยรับภาระดอกเบี้ยแทนสถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 โดยกองทุนพัฒนาสหกรณ์และรัฐบาลจะช่วยรับภาระดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.49 สถาบันเกษตรกรจะรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 เท่านั้น กำหนดชำระคืนเป็นรายงวดภายในเดือนสิงหาคม 2567  ซึ่งปัจจุบัน ธ.ก.ส.อนุมัติเงินกู้แล้ว 1,800 ล้านบาท


         นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เผยว่า ในส่วนผู้ประกอบกิจการยางพารา รัฐบาลได้อนุมัติโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการไปดูดซับยางพาราออกจากระบบ นำมาเก็บในสต็อกของผู้ประกอบการลักษณะหมุนเวียน โดยรัฐบาลจะรับภาระดอกเบี้ยแทนผู้กู้ร้อยละ 3 ผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในโครงการที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กำหนด ผู้ประกอบกิจการยางพาราที่สนใจสามารถแจ้งความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการได้ที่ กยท.
         "มาตรการดังกล่าวมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือด้านราคาให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพารา และสนับสนุนกระบวนการสหกรณ์ให้สถาบันเกษตรกรเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนกลไกตลาดให้ทำงานอย่างเต็มที่ รวมทั้งช่วยแก้ไขปัญหาในระยะยาวให้เกิดความยั่งยืนต่อไป" นายอภิรมย์ กล่าว