ไบโอเทค สวทช. จับมือ เอกชนเปิดตัวถังเลี้ยงปลานิลความหนาแน่นสูง น้ำหมุนเวียน เพิ่มผลผลิต

         กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับ บริษัท พรีเมียร์ โพรดักส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ฟาร์มสตอรี่ จำกัด (ป.เจริญฟาร์ม) วิจัยและพัฒนา "ต้นแบบระบบน้ำหมุนเวียนเพื่อการเลี้ยงลูกปลานิลเชิงพาณิชย์" ด้วยแนวคิดยกกระชังปลาขึ้นมาบนบก ซึ่งสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้ พร้อมช่วยลดความเสี่ยงในการสูญเสียลูกปลา และเพิ่มผลผลิตในขณะที่ใช้พื้นที่น้อยลง
         โดยในการออกแบบและสร้างระบบเลี้ยงปลาที่มีระบบบำบัดในตัว ใช้เทคโนโลยีที่ได้จากการวิจัยและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระบบมีความง่ายต่อการใช้งานและมีประสิทธิภาพดี ผ่านการทดสอบใช้งานในสภาวะการทำงานจริง โดยจะมีการหมุนเวียนน้ำจากบ่อปลาออกมาบำบัดในถังตัวกรองชีวภาพไนตริฟิเคชัน (Nitrification biofilter) ก่อนที่จะนำน้ำกลับไปใช้เลี้ยงปลา การหมุนเวียนน้ำเป็นระบบปิดช่วยให้ผู้เลี้ยงสามารถควบคุมสภาวะการเลี้ยงได้ดีกว่าระบบเปิด ลดการเปลี่ยนถ่ายน้ำ ลดโอกาสติดเชื้อโรคจากภายนอก และมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


         นายปรัชญา นวไตรลาภ กรรมการบริษัท ฟาร์มสตอรี่ จำกัด (ป.เจริญฟาร์ม) เปิดเผยว่า ป.เจริญฟาร์ม เป็นฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาชั้นนำ ที่ผลิตและจำหน่ายพันธุ์ปลาคุณภาพให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาทั่วประเทศมากว่า 33 ปี ซึ่งมีแนวคิดอยากจะทำการยกกระชังปลามาขึ้นบก จนได้มารู้จักกับ ดร.สรวิศ เผ่าทองศุข นักวิจัยไบโอเทค สวทช. พัฒนาถังเลี้ยงปลานิลความหนาแน่นสูงระบบน้ำหมุนเวียน เป้าหมายหลักคือ การเลี้ยงปลาขนาด 2.5 กรัม ให้เป็นขนาด 30 กรัม แต่เรายังได้ทดลองเลี้ยงปลานิลตั้งแต่น้ำหนัก 30 กรัม ไปจนถึง 1 กิโลกรัมต่อตัวด้วยเช่นกัน ด้วยระบบหมุนเวียนน้ำนี้ ผู้เลี้ยงสามารถเลี้ยงปลาได้ทุกสถานที่ในประเทศไทย และในทุกฤดูกาล รวมถึงสามารถนำไปใช้เก็บรักษาพ่อแม่พันธุ์ปลาที่มีมูลค่าสูงได้อีกด้วย
          "ถังเลี้ยงปลาฯ ช่วยลดภาระเรื่องการจัดการเพื่อรับมือกับความเสี่ยงทางภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม รวมถึงโรคที่อาจจะเกิดกับตัวปลา ส่งผลให้อัตราการรอดของปลาอยู่ในระดับที่ดีมากหรือประมาณ 90 - 100% โดยปลาที่เลี้ยงมีคุณภาพเนื้อไม่แตกต่างกับปลาที่เลี้ยงในระบบปกติ ไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะ ไม่มีกลิ่นโคลน ทำให้ผู้บริโภคได้รับประทานปลาที่สด สะอาด ปลอดภัยต่อสุขภาพ"


         ดร.สรวิศ เผ่าทองศุข หัวหน้าห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า ตัวถังเลี้ยงปลาออกแบบให้มีพื้นที่ผิวต่อความลึกของน้ำที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงลูกปลานิล มีการระบายน้ำเสียและตะกอนของเสียออกจากบ่อได้อย่างสมบูรณ์ มีระบบเติมอากาศและการหมุนเวียนน้ำภายในถังเลี้ยงอย่างทั่วถึง ซึ่งเมื่อมีตะกอนขี้ปลา ปลาตายหรือปลาป่วย จะถูกดึงออกจากบ่อโดยอัตโนมัติผ่านทางท่อลำเลียงไปยังถังแยกปลาตาย ทำให้ผู้เลี้ยงสามารถติดตามจำนวนปลาที่ตาย และสามารถแยกปลาป่วยออกไปตรวจโรคเพื่อวางแผนการรักษาได้อย่างทันท่วงที หลังจากนั้นน้ำจะถูกลำเลียงไปยังระบบแยกตะกอน น้ำจะถูกบำบัดในถังบำบัดระบบไนทริฟิเคชั่น ด้วยการเปลี่ยนแอมโมเนียเป็นไนไตรท์และไนเตรท หลังจากนั้นน้ำจะถูกเก็บในถังและนำไปหมุนเวียนในบ่อต่อไป โดยมีการหมุนเวียนน้ำกับระบบบำบัดตลอดเวลา ทำให้ไม่ต้องเปลี่ยนน้ำหรือเติมน้ำเพิ่มเข้าไป ช่วยลดการใช้น้ำถึง 95% ซึ่งการดูแลบำรุงรักษาและล้างทำความสะอาดระบบทั้งหมด สามารถทำได้โดยพนักงานคนเดียวเท่านั้น
         "ถังเลี้ยงปลาดังกล่าว เป็นระบบที่ประหยัดพลังงาน เนื่องจากในระบบมีอุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าเพียง 2 ตัวเท่านั้น คือ ปั๊มน้ำ 1 ตัว และระบบเติมอากาศ 1 ตัว เนื่องจากว่าทำงานแบบ Gravity Flow คือออกแบบให้น้ำไหลตามแรงโน้มถ่วง นอกจากนี้ ถังปลายังสามารถรองรับปลาได้กว่า 30 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าบ่อดินที่รองรับเพียง 1 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือสูงกว่า 20 - 30 เท่า แต่ใช้พื้นที่ที่น้อยกว่าบ่อดิน ช่วยประหยัดต้นทุนได้เป็นจำนวนมาก"
         นายนัทธชัย พ่วงประดิษฐ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท พรีเมียร์ โพรดักส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท พรีเมียร์ โพรดักส์ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจผลิต และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมมานานกว่า 40 ปี ซึ่งบริษัทรู้สึกภูมิใจที่ได้ร่วมงานกับ ไบโอเทค สวทช. และ ป.เจริญฟาร์ม ในการแลกเปลี่ยนความรู้ และสร้างสรรค์ผลงานที่นอกจากจะสามารถใช้ได้จริงแล้ว ยังอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลที่ดีต่อภาพรวมของประเทศอีกด้วย

ที่มา สวทช. nstda.or.th