ปฏิบัติการ!ฝนหลวงแก้ปัญหาภัยแล้งปี61เริ่มเปิดฉาก1มี.ค.

 

 

ก.เกษตรฯ สานต่อศาสตร์พระราชาพัฒนางานวิจัยเพื่อการทำฝนหลวง พัฒนาการบิน เพื่อให้ปฏิบัติการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมเตรียมแผนปฏิบัติการรับมือช่วงเข้าฤดูแล้ง 1 มี.ค.นี้

          นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในงานวันคล้ายวันสถาปนากรมฝนหลวงและการบินเกษตรครบรอบปีที่ 5 วันที่ 25 มกราคม 2561 ณ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา บุคลากรของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจ ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวงเสมอมา ตามตำราพระราชทานฝนหลวง ซึ่งเป็นศาสตร์พระราชาที่สามารถช่วยเหลือประชาชนในประเทศ ตลอดจนเผยแผ่แนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้งไปยังต่างประเทศเพื่อช่วยเหลือประชาชนทั่วไปในระดับโลกด้วย จึงขอให้บุคลากรของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีความมุ่งมั่นและพัฒนางานเกี่ยวกับการปฏิบัติการฝนหลวงให้ดียิ่งขึ้นต่อๆ ไป สนองงานตามโครงการพระราชดำริฝนหลวงที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระราชดำริขึ้นเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาความทุกข์ยากของเกษตรกรและประชาชน ที่ประสบกับความ แห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค

 

 

          สำหรับแผนระยะต่อไปกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมฝนหลวง จะเร่งพัฒนาให้การปฏิบัติการฝนหลวงแก้ไขปัญหาในเรื่องการขาดแคลนน้ำได้อย่างยั่งยืน โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาให้การทำฝนหลวงมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น ทั้งการกำหนดพื้นที่ฝนตก การดูแลสภาพอากาศ  ในสภาพอากาศแปรปรวน การลดปัญหาหมอกควันและไฟป่า ที่ในอนาคตฝนหลวงองค์กรหนึ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมากขึ้น  ส่วนภารกิจหลักในการปฏิบัติฝนหลวง โดยเฉพาะช่วงเข้าสู่ฤดูแล้งในปี 2561 นี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้เตรียมการติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาถึงช่วงเวลา และพื้นที่ใดจะได้ผลกระทบภัยแล้ง ซึ่งในวันที่ 1 มีนาคม นี้ที่คาดการณ์ว่าจะเข้าสู่ฤดูแล้ง กรมฝนหลวงและการบินเกษตรกำหนดเปิดปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายหลักในเบื้องต้นคือ พื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือและมีการติดตามสภาพอาหารในแต่ละพื้นที่เป็นระยะๆ อย่างใกล้ชิดด้วย รวมถึงทำงานร่วมกับกรมชลประทานในการติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ แม้ว่าปีนี้ปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนต่างๆ จะมากกว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมาร้อยละ 60 แต่ก็ต้องใช้น้ำอย่างประหยัดและมีปริสิทธิภาพ โดยเฉพาะเกษตรกรที่ต้องเชื่อฟังเจ้าหน้าที่และทำการเกษตรตามแผนบริหารจัดการน้ำที่ภาครัฐแนะนำก็คาดว่าสถานการณ์เพื่อการเพาะปลูกปีนี้จะอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

 

 

          ด้านแผนการพัฒนาบุคลากรของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรที่ปัจจุบันมีเพียง 507 คน กระทรวงเกษตรฯ ก็เตรียมแผนการเพิ่มอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่กรมฝนหลวงให้เพียงพอและครอบคลุมภารกิจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ด้านการทำฝนหลวงที่ถือเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้มากขึ้นในรูปแบบโรงเรียนฝนหลวง ทั้งด้านพัฒนางานวิจัยเพื่อการทำฝน และการพัฒนาการบิน ที่ซึ่งอยู่ในแผนปี 2561–2565 ด้วย