พร้อมรับมือสับปะรด "เกษตรฯ" ใส่เกียร์ยุทธศาสตร์ ระยะที่ 1 ปฏิรูปการผลิต

         นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยถึงสถานการณ์การผลิตสับปะรด โดยคาดว่าการผลิตในปี 2561 เนื้อที่เก็บเกี่ยวและผลผลิตจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงปี 2558-2559 ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรจึงขยายพื้นที่ปลูก เมื่อสับปะรดให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมากในปีที่ผ่านมา ราคาจึงลดลง ประกอบกับสภาพอากาศแปรปรวนทำให้คุณภาพผลผลิตไม่ตรงตาม ความต้องการของโรงงานแปรรูปสับปะรด และผลจากราคาส่งออกที่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งตัวแทนการค้า (Broker) คงระดับราคารับซื้อไว้
         อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาสับปะรด โดยคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์สับปะรดปี 2560-2569 และการบริหารจัดการผลผลิตสับปะรดในช่วงปลายปี 2560 ประกอบด้วย
         แนวทางการบริหารจัดการผลผลิตสับปะรดในช่วงปลายปี 2560 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านการตลาดและการส่งออกสับปะรด โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานผู้ประกอบการ ผ่านกลไกประชารัฐ เพื่อเชื่อมโยงการรับซื้อผลผลิตสับปะรดจากเกษตรกรกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ มีการส่งเสริมการส่งออกสับปะรดผลสดไปยังตลาดค้าชายแดน ผลักดันการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างเกษตรกรและโรงงานแปรรูปเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา นอกจากนี้มีการติดตามสถานการณ์ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2561
         แนวทางการบริหารจัดการในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมากช่วงที่ 1 ปี 2561 (มีนาคม-พฤษภาคม 2561) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สศก. จะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์เพื่อเตรียมแนวทางและมาตรการรองรับต่อไป ซึ่งหากมองถึงสถานการณ์การผลิตสับปะรด ปี 2561 (ข้อมูล ณ ธันวาคม 2560) สศก. คาดว่าจะมีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 0.581 ล้านไร่ ผลผลิต 2.462 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 4,233 กิโลกรัม  เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 10.43 ร้อยละ 13.22 และร้อยละ 2.52 ตามลำดับ เนื่องจาก ช่วงปี 2558-2559 ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกในพื้นที่ไม่เคยปลูกสับปะรดมาก่อน รวมทั้งต้นสับปะรดปีแรกให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นผลผลิตออกสู่ตลาดมากตั้งแต่เดือน มีนาคม โดยผลผลิตช่วง มีนาคม–พฤษภาคม 2560 ประมาณ 0.869 ล้านตัน (ร้อยละ 35.31 ของผลผลิตทั้งหมด) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 9.30


         การบริหารจัดการระยะยาว จะขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์สับปะรดปี 2560-2569 คือ ด้านการผลิต โดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านการผลิตสับปะรด มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลัก กำหนดพื้นที่เหมาะสมและกลุ่มเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสับปะรดโรงงาน ภายใต้ Agri-Map โดยคลอบคลุม เกษตรกรที่มีพื้นที่ปลูกสับปะรดในรัศมีรอบโรงงาน 50-100 กม. กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ และเกษตรกรที่เพาะปลูกในจังหวัดที่ไม่มีโรงงานแปรรูป โดยใช้กลไกระดับพื้นที่ ผ่านทาง Single Command จังหวัด ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนงาน/โครงการด้านการผลิต ระยะที่ 1 (ปี 2561-2564) และให้ สศก. ประเมินผลโครงการด้านการผลิต ระยะที่ 1 เพื่อการวางแผนจัดทำแผนงาน/โครงการ ระยะที่ 2 (ปี 2565-2569) ต่อไป
         ด้านการแปรรูป โดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านอุตสาหกรรมแปรรูปสับปะรด มีกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานหลัก กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนในการพัฒนาการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมสับปะรดของไทย 5 ด้าน ได้แก่ 1.ศึกษาวิจัยและส่งเสริมการนำนวัตกรรม 2.ส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพ 3.ควบคุมคุณภาพบรรจุภัณฑ์สับปะรดให้ได้มาตรฐาน 4.การให้สิทธิประโยชน์หรือมาตรการจูงใจเพื่อส่งเสริมการลงทุน และ 5.การแปรรูปผลิตภัณฑ์ใหม่จากสิ่งเหลือใช้จากกระบวนการแปรรูป
         ด้านการตลาดและการส่งออก โดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านการตลาดและการส่งออกสับปะรด มีกระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานหลัก ดำเนินการรณรงค์และส่งเสริมการบริโภคสับปะรดและผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ ส่งเสริมการเจรจาทางการค้าเพื่อขยายตลาดใหม่ ส่งเสริมการสร้างตราสินค้า ศึกษา วิจัยความต้องการสับปะรดและผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมการรวบรวม จำหน่าย และส่งออกสับปะรดผลสด โดยผ่านกลไกรูปแบบประชารัฐ


         สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์สับปะรดด้านการผลิต ระยะที่ 1 (ปี 2561-2564) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านการผลิตสับปะรด มีมติเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายในการส่งเสริม 2 กลุ่ม คือ
         กลุ่มที่ 1 จังหวัดที่อยู่ในรัศมีรอบกลุ่มโรงงานฯ 100 กิโลเมตร เพื่อกำหนดเป็นพื้นที่ส่งเสริมการปลูกสับปะรดเพื่อส่งเข้าโรงงานแปรรูปสับปะรด รวม 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด
         กลุ่มที่ 2 จังหวัดที่มีการปลูกสับปะรดโรงงานแต่อยู่ห่างไกลจากที่ตั้งของโรงงานแปรรูปสับปะรด กำหนดให้เป็นพื้นที่ส่งเสริมการปลูกสับปะรดเพื่อเน้นการบริโภคผลสด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พะเยา ลำปาง อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม ชัยภูมิ ชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช และพัทลุง ซึ่งจะเน้นการสร้างตราสัญลักษณ์สินค้า (Brand Name) การจดสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) โดยเชื่อมโยงผ่านกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ ไปยังผู้ส่งออก /Modern Trade/การค้าชายแดน
         ขณะนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับจังหวัด พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแผนงาน โครงการ งบประมาณ ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้ง 2 กลุ่ม