สารพัดพืชผัก คลายเครียด แก้ฟุ้งซ่าน ลดซึมเศร้า

         โรคซึมเศร้า พบได้ทุกเพศทุกวัย มีอาการอยากอยู่คนเดียว ไม่เข้าร่วมกิจกรรม สมาธิไม่ดี หงุดหงิดโกรธง่าย มีปฏิกิริยารุนแรงต่อคำวิจารณ์ของผู้อื่น สาเหตุของโรคอาจเกิดจากการไม่สมดุลของสารเคมีในร่างกาย หรือเกิดจากเหตุการณ์ที่มากระทบจิตใจของผู้ป่วยอย่างรุนแรง เช่น การสูญเสีย หรือผิดหวัง การรักษาในทางการแพทย์จะเป็นการเข้าพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสม และอาจมีการให้ยาบรรเทาอาการร่วมด้วยในการรักษา ซึ่งผู้ป่วยต้องได้รับการประคับประคองจากครอบครัว และทำตามแพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอ ก็จะหายขาดได้ ทั้งนี้หากสภาวการณ์ของโรคไม่รุนแรงนัก คนรอบข้างก็สามารถให้ความช่วยเหลือจนเข้าสภาวะปกติได้
         สำหรับการแพทย์ทางเลือกที่สามารถใช้เพื่อบรรเทาภาวะซึมเศร้า เน้นให้ผู้ป่วยต้องใส่ใจตนเองเริ่มจากการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ พักผ่อนเพียงพอ ออกกำลังกาย ทำสมาธิ ร่วมกิจกรรมสังคม เป็นต้น ซึ่งสมุนไพรที่หาง่ายใกล้ตัวก็สามารถใช้บรรเทาภาวะซึมเศร้า ร่วมกับการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบัน หรือช่วยบรรเทาสำหรับผู้ที่เริ่มจะมีอาการโรคซึมเศร้าได้


         สมุนไพรที่ใช้รับประทาน เพื่อบรรเทาโรคซึมเศร้า ที่หาได้ง่ายที่สุด คือ กล้วย นั่นเอง เพราะกล้วยมี กรดอะมิโน "ทริปโตฟาน" เมื่อเข้าไปในร่างกายจากการรับประทาน จะถูกเปลี่ยนเป็นสาร "เซโรโทนิน" ซึ่งเป็นสารที่ช่วยให้ผ่อนคลายและปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น นั่นก็คือทำให้มีความสุขเพิ่มขึ้น


         สำหรับสมุนไพรที่บรรเทาอาการฟุ้งซ่าน ไม่ร่าเริง ที่เราคุ้นเคยอีกชนิด ได้แก่ พืชในกลุ่ม ฟัก แฟง แตง น้ำเต้า และมะตูม พืชเหล่านี้มีสรรพคุณช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต การนำมาใช้ปรุงเป็นอาหารในชีวิตประจำวันก็ง่าย ทั้งต้ม-แกง อย่างที่เราคุ้นเคย หรือทำชามะตูมดื่มก็ไม่ยุ่งยากแต่ประการใด


         สมุนไพรที่มีสรรพคุณลดความเครียด บำรุงประสาทและสมอง เพิ่มสมาธิ เพิ่มความจำ แก้ไมเกรน ได้แก่ "บัวบก" ที่เราพบเห็นได้ตามตลาดสดที่มีรถเข็นน้ำบัวบกมาขาย หรือแผงผักที่ชาวบ้านนำมาวางจำหน่าย บัวบกมีกลิ่นฉุน รสขมหวาน สามารถรับประทานสดแบบผักจิ้มน้ำพริก ลาบ หรือคั้นน้ำ หรือปรุงสุก โดยนำไปทอดกับไข่ ยำ ชุบแป้งทอด เป็นต้น สามารถฟื้นฟูพลังงานให้แก่สมองได้ข้ามคืน แต่ห้ามใช้ร่วมกับยาละลายลิ่มเลือด หรือในผู้ที่มีการแข็งตัวของเลือดช้า บัวบกนอกจากใช้รับประทานแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ภายนอกเพื่อเสริมความงามได้ โดยนำใบสดมาปั่น แล้วใช้สำลีชุบน้ำบัวบกนำมาทาทั่วใบหน้า ทิ้งไว้ 15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำเย็น ทำเป็นประจำ ช่วยชะลอปัญหาความเสื่อมของเซลล์ผิว ขจัดฝ้า กระ จุดด่างดำ ผิวเปล่งปลั่ง สดใส เป็นการหันมาใส่ใจตนเองของผู้ป่วย ก็จะช่วยให้จิตใจกระปี้กระเปร่ายิ่งขึ้น
         สำหรับสมุนไพรที่ทำให้เลือดลมไหลเวียนสม่ำเสมอ ลดความหงุดหงิดกระวนกระวาย และทำให้นอนหลับได้ดี ก็คือ "ลูกยอ" ซึ่งมีรสร้อน นำมารับประทานทั้งสด เช่น ตำลูกยอ หรือนำไปดองน้ำผึ้งเพื่อให้รับประทานได้ง่ายและเก็บได้นาน กรรมวิธีทำไม่ยุ่งยาก ใช้ลูกยอสุกล้างให้สะอาด ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ บรรจุลงโหลแก้ว เติมน้ำผึ้งให้ท่วมลูกยอ ปิดฝาโหลให้สนิท เก็บในที่ไม่โดนแสง นานประมาณ 3 เดือน ก็นำมารับประทานได้ โดยใช้ยาดองลูกยอ 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำเปล่า 1 แก้ว ดื่มก่อนหรือหลังอาหารเช้า-เย็น หากอายุยาดองลูกยอนานกว่า 1 ปี ให้ลดยาดองเหลือ 1 ช้อนชาก็พอ ผลพลอยได้อีกประการคือ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความเสื่อมของร่างกาย คนโบราณถือเป็นยาอายุวัฒนะ รับประทานทุกวัน ร่างกายแข็งแรง ไม่ปวดเมื่อย
         สมุนไพรอีกตัวที่มีความโดดเด่น ด้วยสรรพคุณ กล่อมประสาท ปรับสมดุล ช่วยให้นอนหลับ คือ "ดีบัว" ซึ่งได้จากฝักของบัวหลวง เมื่อแกะเมล็ดออกมาจะพบใบเลี้ยง 2 ซีก ต้นอ่อนสีเขียวเข้มที่แทรกอยู่ระหว่างใบเลี้ยง ก็คือส่วนที่เราเรียกกันว่า ดีบัว นั่นเอง ดีบัวมีฤทธิ์เย็น รสขม ประกอบด้วย สารดีเมทิลโคคลอยูรีน (demethylcoclaurine) มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ สารเมทิลโครีเพลลีน (methyl corypalline) มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ และสารนีเฟอร์รีน (neferine) มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต และต้านการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ กรรมวิธีการรับประทานโดยการชงดื่มแบบชาดีบัว ซึ่งทำได้ง่ายไม่ยุ่งยาก โดยใช้ดีบัวแช่ในน้ำร้อนประมาณ 5-10 นาที ก็ดื่มได้ หรืออาจแต่งกลิ่นด้วยดอกมะลิ ก็จะช่วยบำรุงจิตใจให้ชุ่มชื่น


         การใช้กลิ่นหอมเพื่อช่วยบำบัด ก็เป็นอีกวิธีที่ให้ประสิทธิภาพได้อย่างที่ไม่ควรมองข้าม โดยกลิ่นหอมเมื่อเข้าสู่จมูก จะกระทบกับเนื้อเยื่อและประสาทรับกลิ่น แล้วเดินทางสู่สมองไปยังส่วนของลิมปิคซิสเต็ม (Limbic system) มีผลให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนและเอนไซม์เพื่อให้เกิดการปรับสมดุลของร่างกาย การใช้สรรพคุณของกลิ่นหอมที่ทำได้ง่ายๆ เช่นการปลูกไม้หอมในบริเวณที่พักอาศัย ยิ่งถ้าให้ผู้ป่วยลงมือปลูกเอง ยิ่งเป็นการหากิจกรรมให้ได้ผ่อนคลายและออกจากห้องมาใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น พืชให้ความหอมแบบไทย ที่ช่วยให้อารมณ์สงบ ลดอาการซึมเศร้า ลดความวิตกกังวล ได้แก่ มะลิ กุหลาบ กระดังงาไทย เป็นต้น
         ข้อแนะนำท้ายสุดคือผู้มีภาวะซึมเศร้า ควรปรับวิถีชีวิตให้ออกไปสัมผัสธรรมชาติ แสงแดดอ่อนๆ ยามเช้า เพื่อกระตุ้นร่างกายไม่ให้หดหู่ แสงแดดทำให้สดชื่น ตื่นตัว รวมทั้งการปฏิบัติธรรมเพื่อเตรียมจิตใจให้พร้อมรับกับสภาวะไม่เที่ยง ซึ่งเป็นอนิจจัง ถือศีล สวดมนต์ตามโอกาสอันควร เป็นการใช้หลายศาสตร์ผสมผสานกัน ทำให้หายและห่างใกล้จากโรคซึมเศร้าอย่างแท้จริง


ข้อมูลจากบทความ : สมุนไพรช่วยบรรเทาภาวะซึมเศร้า โดย อ.เบญจวรรณ ชิวปรีชา สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา
เอกสารอ้างอิง
1. ผกากรอง ขวัญข้าว. 2557. สมุนไพรรักษาโรคหัวใจ. อภัยภูเบศรสาร 11(128): 1
2. ผกากรอง ขวัญข้าว. 2556. เรื่องกล้วยๆ ที่จะไม่กล้วยอีกต่อไป. อภัยภูเบศรสาร 10(118): 1
3. เยาวชนกลุ่มรักษ์เขาใหญ่. 2557. บัวบก. อภัยภูเบศรสาร 12(135): 4
4. วัจนา ตั้งความเพียร. 2556. สูตรยอดองน้ำผึ้ง. อภัยภูเบศรสาร 10(120): 5