ธ.ก.ส.เร่งโอนเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวปีการผลิต60/61

 

 

ธ.ก.ส.เร่งโอนเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 60/61 ให้เกษตรกรทั่วประเทศกว่า 3.9 ล้านราย เข้าบัญชีเกษตรกรภายในเดือนธันวาคมนี้ ล่าสุดมอบเงินให้ชาวนาสระบุรี 11,000 ราย กว่า 120 ล้านบาท

        ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขา อ.เมือง จ.สระบุรี ได้จัดพิธีมอบเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2560/61 ที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวกับกรมส่งเสริมการเกษตร ไร่ละ 1,200 บาท หรือครัวเรือนละไม่เกิน 12,000 บาท

 

 

        นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าวว่า มีเกษตรกรที่ได้รับการช่วยเหลือกว่า 3.9 ล้านราย คิดเป็นงบประมาณกว่า 47,000 ล้านบาท ดังนั้น เดือนธันวาคม-มกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่เกษตรกรกำลังเร่งดำเนินการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว เพื่อนำไปจำหน่าย ธ.ก.ส.จึงตั้งเป้าที่จะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงให้เสร็จภายในเดือนธันวาคม 2560 ยกเว้นภาคใต้ที่ผลผลิตออกช้า คาดว่าจะดำเนินการเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2561 โดยนำร่องการจ่าย 781,896 ราย เป็นเงิน 7,021 ล้านบาท สำหรับจังหวัดสระบุรีจ่ายครบถ้วน 11,121 ราย วงเงินรวมกว่า 126 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินโครงการนี้จะช่วยให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนดูแลคุณภาพข้าวและเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศได้อีกทางด้วย

        นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังเร่งดำเนินโครงการอื่นๆ เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกในการขายผลผลิตราคาที่เหมาะสม รวมถึงการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวของประเทศและสร้างความมั่นคงเรื่องรายได้แก่เกษตรกร ประกอบด้วย โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร เป้าหมาย 2.5 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อ 12,500 ล้านบาท สถาบันเกษตรกรจะรับภาระดอกเบี้ยเพียงแค่ร้อยละ 1 ต่อปี และรัฐบาลจะสนับสนุนร้อยละ 3 ต่อปี ณ วันที่ 19 ธันวาคม 2560 มีผู้เข้าร่วมโครงการ 193 ราย ปริมาณข้าวเปลือก 738,915 ตัน จำนวนสินเชื่อ 5,911.35 ล้านบาท

 

 

        ทั้งนี้ โครงการสินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2560/2561 โดยสนับสนุนสินเชื่อให้แก่เกษตรกร สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ในการเก็บรักษาข้าวเปลือกในยุ้งฉางเพื่อรอราคา เป้าหมาย 2 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อ 21,010 ล้านบาท ซึ่งเกษตรกรจะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าว ตันละ 1,500 บาท โดยจ่ายพร้อมสินเชื่อก่อนตันละ 1,000 บาท และจ่ายภายหลังนำเงินมาชำระหนี้อีกตันละ 500 บาท ณ วันที่ 19 ธันวาคม 2560 มีผู้เข้าร่วมโครงการ 1,446 ราย ปริมาณข้าวเปลือก 28,809 ตัน จำนวนสินเชื่อ 234 ล้านบาท จากการดำเนินงานดังกล่าว ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2560 ปัจจุบันพบว่าราคาข้าวเปลือกมีแนวโน้มสูงขึ้น