ผลสำเร็จบางระกำโมเดล 60

ผลสำเร็จบางระกำโมเดล 60
แม่แบบบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำ
โดย : ปรีชา อภิวัฒนกุล

         นวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำอยู่ในความคิดของกรมชลประทานมานาน แต่การลงมือทำนั้นไม่ง่ายนัก
         กรมชลประทาน โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน ใช้พื้นที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ซึ่งเผชิญปัญหาน้ำ ทั้งในฤดูน้ำหลาก น้ำจากสารพัดแห่งไหลเทมาลงที่บางระกำ ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ส่งผลให้เกิดความเสียหาย โดยเฉพาะผลผลิตข้าวที่เตรียมเก็บเกี่ยว กลับกันพอถึงฤดูแล้งกลับไม่มีน้ำเพาะปลูกทั้งที่เพิ่งท่วมไปหยกๆ เป็นสถานที่เริ่มทดลองในปี 2557/2558
         โดยประสานกลุ่มผู้ใช้น้ำ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ และเป็นกองทัพภาคที่ 3 เองที่เห็นแนวทางนี้น่าจะเกิดประโยชน์แก่เกษตรกร จึงร่วมขบวนขับเคลื่อน เมื่อรัฐบาล คสช. ประกาศเป็นนโยบาย บางระกำโมเดล 60 จึงปรากฏเป็นเรื่องเป็นราวอย่างจริงจัง
         ประเด็นสำคัญของความสำเร็จในการบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำ
         1.นโยบายรัฐต้องชัดเจน เพราะต้องเกี่ยวข้องและร่วมขับเคลื่อนจากหลายหน่วยงานรัฐ
         2.เกษตรกรต้องเอาด้วย ถ้าไม่เอาก็ป่วยการขับเคลื่อน
         นโยบายบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำของรัฐบาล คสช. คือทำอย่างไรให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำรอดพ้นปัญหาผลผลิตข้าวเสียหายในฤดูน้ำหลาก พร้อมกันนั้นยังสามารถจับปลาสร้างรายได้อีกโสดหนึ่งด้วย ในทางกลับกัน เมื่อถึงฤดูแล้งยังมีน้ำต้นทุนเพาะปลูกได้อีก
         เรียกว่า ได้กับได้ แทน เสียกับเสีย เหมือนในอดีต


         กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องปรับปฏิทินเพาะปลูกเพื่อเลี่ยงผลเสียหาย โดยร่นปลูกเร็วขึ้นเป็นวันที่ 1 เมษายน 2560 แทนที่จะเป็นเดือนพฤษภาคมเหมือนทุกปี การเก็บเกี่ยวจะกระทำภายใน 15 กันยายน ซึ่งแม้ฝนจะตกแต่ยังไม่ทันหลากท่วมให้ข้าวเสียหาย เท่ากับเกษตรกรรอดพ้นหายนะและยังมีรายได้จากผลผลิตข้าวตุนไว้ 1 ครั้ง
         การปรับปฏิทินเพาะปลูกข้าวเกษตรกรต้องเอาด้วย และการมีกองทัพและฝ่ายปกครองในการขับเคลื่อนทำให้ไม่มีเกษตรกรในเส้นทางน้ำผ่าน 60 กิโลเมตรเหนือเขื่อนทดน้ำนเรศวรที่รับน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์กล้าแอบลักสูบน้ำที่ผ่านหน้าเหมือนอย่างเคยๆ
         ฤดูน้ำหลาก 2560 ข้าวส่วนใหญ่รอดพ้นหายนะ มีส่วนน้อยที่ดื้อแพ่งไม่เชื่อฟังก็กระทบกันไป ขณะเดียวกัน น้ำหลากที่ดึงเข้าไปเก็บในทุ่งแก้มลิงบางระกำชั่วคราว ก็กลายเป็นแหล่งประมงให้เกษตรกรจับกินและจับขาย โดยมีกรมประมงเป็นตัวช่วยในการปล่อยพันธุ์ปลาเข้าสมทบ การจับปลาจึงเป็นรายได้เสริมนอกเหนือจากรายได้จากผลผลิตข้าวที่ตุนไปก่อนแล้ว
         ที่น่าแปลกใจปีนี้มีปลาที่หายหน้าหายตาหวนคืนสู่ท้องน้ำ โดยกรมประมงไม่ได้ปล่อย เช่น ปลาหมู ปลาค้าวดำ ปลากระทิง เป็นต้น
         ปลาสร้อยก็ชุกชุมเป็นพิเศษ ชนิดใช้สวิงช้อนได้ครั้งละเป็นกิโลกรัม ฟังแล้วไม่อยากเชื่อ แต่เมื่อลงไปสัมผัสของจริงก็พบว่ามีจริงเช่นนั้น
         ฝนหยุดเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูแล้งตามวัฐจักร กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำด้วยการค่อยๆ ระบายน้ำออกแล้วไล่ทำนาปรังตามพื้นที่รอบๆ เพราะมีน้ำต้นทุนกันแล้ว ผลผลิตตรงนี้ ไม่ว่าข้าวนาปรังหรือพืชฤดูแล้งคือรายได้ของเกษตรกร


         สรุปคือเกษตรกรบางระกำ โมเดล จะมีรายได้ 3 ทางใน 1 ปี คือ ข้าวนาปีจากการปรับปฏิทินเพาะปลูก การจับปลาในทุ่งบางระกำที่แปรเป็นแก้มลิงชั่วคราว เก็บน้ำ 400-500 ล้านลูกบาศก์เมตร และข้าวนาปรังหรือพืชฤดูแล้ง
         ส่วนภาครัฐเองเคยจ่ายชดเชยค่าเสียหายผลผลิตข้าวจากน้ำท่วม เดิมฤดูน้ำหลากละ 100 กว่าล้านบาท ปี 2560 จ่ายเพียงกว่า 11 ล้านบาทเท่านั้น ประหยัดนับ 100 ล้านบาท 10 ปีก็ประหยัดเป็นพันล้านบาทแล้ว
         เป็นโมเดล (Model) หรือ แม่แบบที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ลุ่มต่ำอื่นอีกนับล้านๆ ไร่ทั่วประเทศไทย
         ผลจากบางระกำ โมเดล ทำให้เกษตรกรอีกส่วนหนึ่งที่อยู่คนละฝั่งขอให้กระทรวงเกษตรฯ ขยายผลไปดำเนินการให้ด้วย
         แม้จะเป็นเรื่องน่าชื่นใจ แต่อีกด้านหนึ่งก็น่ากังวลเช่นกันว่า เป็นพื้นที่ที่ไม่มีระบบชลประทานช่วย หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือไม่มีเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำเหมือนพื้นที่ลุ่มต่ำที่ทำอยู่
         การรับปากเกษตรกรก็ดี การหวังผลคะแนนนิยมก็ดี ล้วนต้องทำการบ้าน เตรียมความพร้อมมากมายหลายเรื่อง หาไม่แล้วอาจได้ไม่คุ้มเสีย ซึ่งเคยเกิดบ่อยครั้งในอดีต จนเกษตรกรเองไม่ไว้เนื้อเชื่อใจหน่วยงานรัฐ
         เขียนไว้เป็นข้อเตือนใจให้ระวังเท่านั้น