ข้อควรปฏิบัติกับ"พะยูง"ไม้หวงห้ามประเภท ก

 

 

ลายคนอาจสงสัยกันว่าทำไม "ไม้พะยูง" จึงมีราคาแพง นำไปใช้ประโยชน์ทำอะไรได้บ้าง จากข้อมูลพบว่า พะยูงเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นไม้มงคลจังหวัดหนองบัวลำภู มักขึ้นในป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณชื้น โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

         เป็นไม้เนื้อแข็ง เช่นเดียวกับไม้สัก ตะเคียน ไม้แดง ไม้ประดู่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Dalbergia cochinchinensis ชื่อพื้นเมือง ขะยุง,พยุง,แดงจีน และประดู่เส จัดเป็นไม้เศรษฐกิจที่มีราคาสูง ทั้งความเชื่อว่าเป็นไม้มงคล ที่ว่าบ้านใดปลูกไว้ประจำบ้าน จะทำให้บุคคลในบ้านมีแต่ความเจริญ ฐานะดีขึ้น ชีวิตไม่ตกต่ำ เพราะพยุงคือการประคับประคองให้คงอยู่ ให้มั่นคงหรือการยกให้สูงขึ้น

          จัดว่าเป็นเไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูง 15–25 เมตร เปลือกสีเทาเรียบ ใบ เป็นช่อแบบขนนก เรียงสลับ มี 7–9 ใบ กว้าง 3–4 ซม. ยาว 4–7 ซม. ปลายแหลม โคนสอบ ผิวด้านบนสีเขียวเข้ม ท้องใบสีจาง ดอก เล็กสีขาว กลิ่นหอมอ่อน ออกรวมกันเป็นช่อตามง่ามใบ และตามปลายกิ่ง ผล เป็นฝักแบนบาง กว้าง 1.2 ซม. ยาว 4–6 ซม.มี 1–4 เมล็ด เนื้อไม้ มีสีแดงอมม่วงถึงแดงเลือดหมูแก่ เนื้อละเอียดแข็งแรงทนทาน ขัดและชักเงาได้ดี ใช้ทำเครื่องเรือน ทำเครื่องดนตรี เช่น ซอ ขลุ่ย ลูกระนาด และแม้แต่ ช้อน ส้อม

 

 

         ชั่วโมงนี้ ถือว่าไม้ป็นไม้ที่ราคาแพงมากที่สุดในโลกและแพงกว่าไม้สัก ราคาเฉลี่ยลูกบาศก์เมตรละหลายหมื่นบาท สาเหตุที่มีราคาพุ่งสูงมาก เนื่องจากความนิยมใช้ไม้ชนิดนี้ในประเทศจีน ที่เริ่มจากการนำเข้าไปซ่อมแซมพระราชวังต้องห้าม ช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ในปี 2551 ต่อด้วยการนำไปแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์หลากหลายรูปแบบ ทำเป็นของแต่งบ้านชิ้นเล็กๆ ทำเป็นวัตถุมงคล เช่น ตัวปี่เซียะ เทพเจ้า ฮก ลก ซิ่ว ส่วนในบ้านเราไม่นิยมใช้ เพราะความเชื่อบางอย่าง ทว่า ที่สำคัญไม้พะยูงถือว่าเหลือเฉพาะในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวในโลก เพราะประเทศลาวที่เคยมีได้หมดไปแล้ว

สาระที่ต้องรู้ 

        ไม้พะยูงเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก คือถ้าเกิดในที่ไหน ต้องขออนุญาตในการตัดหรือใช้ประโยชน์ แต่ถ้าเป็นกรณีที่ไม้เกิดล้มลงมา ซึ่งถือเป็นเรื่องเหตุสุดวิสัย วาตภัย ถือเป็นเรื่องที่อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน เบื้องต้นให้แจ้งผู้ปกครองท้องถิ่น เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต.เทศบาลทราบ เพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานทางเอกสาร เพื่อคุ้มครองสิทธิไม่ให้ผู้อื่นมากระทำต่อทรัพย์หรือต่อตัวเรา หรือแย่งชิงเอาทรัพย์เราไป ทว่า ถ้าจะตัดไม้นั้น ต้องขออนุญาตก่อน ต่างจังหวัดที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เมื่อแจ้งเสร็จสำนักงานจะส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจรับรองยืนยันว่ามีไม้มีกรรมสิทธิ์ที่ดินจริง

        เมื่อตรวจเสร็จแล้วจะต้องเสนอผู้มีอำนาจ ต่างจังหวัดผู้ว่าฯ จะเป็นผู้อนุมัติให้ตัด จากนั้นจึงจะออกใบอนุญาตให้เรา เว้นแต่กรณีที่ล้มทับทรัพย์สิน สามารถตัดได้เลย โดยตัดก่อนแล้วนำหลักฐานไปยื่นทีหลัง คือถ้าล้มทับยังไงก็ต้องตัด เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน ส่วนวิธีสร้างหลักฐานคือให้ไปแจ้งผู้ปกครองท้องที่ให้ทราบ ทั้งนี้ ต้นไม้ต่างๆ ถ้าขึ้นในพื้นที่เราก็คือทรัพย์ ไม่ต้องไปแจ้งก็ได้ แต่เมื่อไหร่ที่จะตัดเราต้องไปแจ้ง

 

 

        อย่างไรก็ตาม หากในพื้นที่เราปลูก ไม้สัก ไม้ยาง ไม้พะยูง มานาน 20 ปีแล้ว เมื่อจะตัดเพื่อค้าขายสามารถดำเนินการได้ โดยเอาไปขึ้นทะเบียนสวนป่าเอกชน ตามพ.ร.บ.สวนป่า ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อส่งเสริมให้ประชาชน ปลูกไม้ในที่ดินกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ประโยชน์หรือเพื่อการค้า เป็นกฎหมายคุ้มครองอาชีพนี้ ต่างจังหวัดขึ้นทะเบียน ที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ส่วนเขตกรุงเทพฯไปยื่นที่กรมป่าไม้ บางเขน

         เรื่องต้นไม้ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่ว่าคนทั่วไปยังเข้าใจไม่ถูกต้อง คือถ้าตัดในป่าถูกจับแน่นอน แต่ถ้าตัดในที่ดินกรรมสิทธิ์ของตนมันเป็นทรัพย์ของเราเอง เพียงแค่ไม้สัก ไม้ยาง ไม้พะยูง จะต้องไปยื่นขออนุญาต ซึ่งปัจจุบันการยื่นขออนุญาตไม่ได้ยุ่งยาก มี พ.ร.บ.ค่อยอำนวยความสะดวกอยู่แล้ว ซึ่งไม่ได้มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

ขอบคุณที่มา : www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/knowledge/26944/,www.pccl.ac.th/external_newsblog.php?links=1721,ไทยรัฐออนไลน์, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี