กลุ่มผู้นำเกษตรกรฯ จับมือหนุนปรับพรบ.คุ้มครองพันธุ์พืช

         หลังวาระการประชุมเพื่อการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ผู้บริหารกลุ่มองค์กรการเกษตรระดับประเทศส่วนใหญ่ ต่างเห็นพ้องและเดินหน้าสนับสนุนกระบวนการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับดังกล่าว
         ผศ. ดร. ชัยฤกษ์ สงวนทรัพยากร นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย, รศ. ดร. จวงจันทร์ ดวงพัตรา นายกสมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย, นายพิเชษฐ์ กรุดลอยมา นายกสมาคมปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย และ นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธุ์เกษตรปลอดภัย จัดการประชุมโต๊ะกลมร่วมกับตัวแทนกลุ่มเกษตรกร นักวิชาการ และสื่อมวลชน เพื่อพูดคุยและรับฟังความคิดเห็นในประเด็นสำคัญด้านการเกษตรของประเทศไทยในปัจจุบัน โดยกลุ่มผู้นำองค์กรการเกษตรในประเทศไทยได้มีการลงนามและประทับตราสัญลักษณ์ของกลุ่มองค์กรเพื่อแสดงเจตจำนงร่วมกัน
         ทั้งนี้ สหภาพนานาชาติเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (International Union for the Protection of New Varieties of Plants : UPOV) มีภารกิจด้านการจัดหาและสนับสนุนการใช้ระบบการทำงานในด้านความหลากหลายของพันธุ์พืชและการคุ้มครองพันธุ์พืช โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมการพัฒนาพันธุ์พืชใหม่เพื่อมอบประโยชน์สู่สังคมโดยรวม อย่างไรก็ตาม ระบบการทำงานที่มุ่งเน้นในเรื่องการจดสิทธิบัตรพันธุ์พืช อาจทำให้เกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนาบางส่วนเข้าใจผิดว่า ตนเองจะถูกกีดกันจากการใช้งานเมล็ดพันธุ์ใหม่ที่มีสิทธิบัตรคุ้มครอง และทำให้เกษตรกรรู้สึกเสียเปรียบ ในขณะเดียวกัน กลับมีผู้โต้แย้งว่า แท้ที่จริง การคุ้มครองพันธุ์พืชน่าจะมีข้อดีมากกว่า เพราะจะทำให้เกษตรกรสามารถนำเมล็ดพืชที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ซึ่งสามารถต้านทานโรคและศัตรูพืชได้ดีกว่าเดิม ไปใช้งานอย่างเหมาะสมและได้รับประโยชน์มากยิ่งขึ้น
         การอภิปรายกันในประเด็นดังกล่าวนี้นับเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกอาหาร และมีประชากรที่ประกอบอาชีพในภาคการเกษตรอยู่เป็นจำนวนมาก ฝ่ายรัฐบาลไทยแสดงการยอมรับในภารกิจของ UPOV โดยมีข้อยกเว้นเพื่อสงวนสิทธิ์และประโยชน์บางประการ
         ในปัจจุบัน การวิจัยและพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการด้านอาหาร อาหารสัตว์ เส้นใย และพลังงานอย่างยั่งยืน มีการดำเนินงานกันอย่างจริงจังภายใต้สภาวะการแข่งขันที่เข้มข้น ซึ่งก่อให้เกิดกระบวนการคุ้มครองสิทธิทางปัญญาและการถกเถียงถึงประเด็นที่มีความสำคัญต่อเกษตรกรและนักพัฒนาผลิตภัณฑ์เหล่านี้
         เป้าหมายของการประชุมเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ยังครอบคลุมถึงเรื่องสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์พืชในประเทศไทยและภารกิจของ UPOV ภายใต้กฎข้อบังคับ UPOV1991 ประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับสิทธิ์บางประการในการใช้เมล็ดพันธุ์ ซึ่งรวมถึงข้อยกเว้นสำหรับผู้เพาะเมล็ดพันธุ์เพื่อการเพาะปลูกซึ่งไม่มีจุดประสงค์ทางการค้า อาทิ การปลูกเพื่อการบริโภคในครัวเรือน เป็นต้น
         นอกจากนี้ ร่างปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชแห่งประเทศไทยฉบับปัจจุบัน ยังระบุถึงข้อยกเว้นในกรณีที่รัฐมนตรีผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องตัดสินอนุมัติให้กระทำได้เกี่ยวกับสหภาพนานาชาติเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV)
         สำหรับสหภาพนานาชาติเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV) เป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐบาลนานาชาติ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก่อตั้งขึ้นตามข้อตกลงในการประชุมนานาชาติเพื่อการปกป้องพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งจัดขึ้นที่นครปารีสเมื่อปี ค.ศ. 1961 และมีการแก้ไขรายละเอียในปี ค.ศ. 1972, 1978 และ 1991 โดย UPOV มีภารกิจด้านการจัดหาและสนับสนุนการใช้ระบบการปฏิบัติงานในด้านความหลากหลายของพันธุ์พืชและการคุ้มครองพันธุ์พืช โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมการพัฒนาพันธุ์พืชใหม่เพื่อมอบประโยชน์สู่สังคมโดยรวม




         ส่วนรายละเอียดของแถลงการณ์ สนับสนุนการปรับแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. ๒๕๔๒ มีดังนี้

         ตามที่กรมวิชาการเกษตร ดำเนินการปรับแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. ๒๕๔๒ และเปิดให้ มีการเสนอความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป สมาคมปรับปรุงพันธุ์ และขยายพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย สมาคมเมล็ดพันธุ์ แห่งประเทศไทย สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย และสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ขอสนับสนุนการปรับแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์ พืช พ.ศ. ๒๕๔๒ เพื่อส่งเสริ มการพัฒนาปรับปรุงพนัธุ์พืช ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสาคัญยิ่ง ต่อความก้าวหน้าของการเกษตรของไทย และการดำรงไว้ ซึ่งความเป็นธรรมต่อทั้งเกษตรกรและนักปรับปรุงพันธุ์โดยมีข้อมูลและเหตผุลประกอบการสนับสนุน ดังนี้
         ๑. การเกษตรในปัจจุบันต้องเผชิญปัญหาความท้าทายมากมาย ได้แก่ โรคและศัตรูพืช ภาวะแล้ง น้ำท่วม และตลอดจนการผลิตผลผลิตที่ตรงต่อความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชให้สามารถตอบสนองต่อความท้าทายเหล่านี้ได้ เพื่อช่วยให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่ดี ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม
         ๒. การปรับปรุงพันธุ์พืชเป็นงานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง โดยจำเป็นต้องใช้ทั้งเทคโนโลยีขั้นสูง และความรู้ ประสบการณ์ และความมานะพยายามของนักปรับปรุงพันธุ์พืชร่วมกัน
         ๓. การส่งเสริมให้มีการปรับปรุงพันธุ์พืช จึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการคุ้มครองสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของนักปรับปรุงพันธุ์พืช เพื่อเป็นกำลังใจในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ และป้องกันการละเมิดหรือขโมยพันธุ์พืชที่นักปรับปรุงพันธุ์พัฒนาขึ้นมา
         ๔. การคุ้มครองสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของนักปรับปรุงพันธุ์พืช ภายใต้ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับแก้ไข จึงเกี่ยวข้องกับพันธุ์พืชใหม่ที่พิสูจน์ได้ว่า เกิดขึ้นมาจากกระบวนการปรับปรุงพันธุ์โดยนักปรับปรุงพันธุ์เท่านั้น พันธุ์พืชที่มีอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ ทั้งที่เป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป พันธุ์พืชเฉพาะถิ่น หรือพันธุ์พืชป่า ยังคงเป็นทรัพยากรของประเทศไทย ที่ประชาชนคนไทยเป็นเจ้าของร่วมกัน
         ๕. พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่บังคับใช้ในปัจจุบัน มีการนิยามให้ “พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป หมายความว่า พันธุ์พืชที่กำเนิดภายในประเทศ หรือมีอยู่ในประเทศ ซึ่งได้มีการใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย และให้หมายรวมถึงพันธุ์พืชที่ไม่ใช่พันธุ์พืชใหม่ พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น หรือ พันธุ์พืชป่า” ซึ่งการกำหนดนิยามเช่นนี้ ทำให้ไม่สามารถแบ่งแยกพันธุ์พืชที่เกิดจากกระบวนการปรับปรุงพันธุ์โดยนักปรับปรุงพันธุ์ ออกจากพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป เนื่องจากพันธุ์พืชที่เกิดจากกระบวนการปรับปรุงพันธุ์ ย่อมมีกำเนิดในประเทศ หรือมีอยู่ในประเทศ หรือมีการใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย
         ๖. การที่ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช ฉบับแก้ไข กำหนดให้ “พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป หมายความว่า พันธุ์พืชที่กำเนิดภายในประเทศ หรือมีอยู่ในประเทศ ซึ่งได้มีการใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ไม่รวมถึงพันธุ์พืชใหม่ พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชป่า หรือพันธุ์พืชที่พิสูจน์ได้ว่า เป็นพันธุ์ที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงพันธุ์” จึงเป็นการปรับแก้ไขที่เหมาะสม เพื่อความชัดเจนในการจำแนกพันธุ์พืชที่นักปรับปรุงพันธุ์พัฒนาขึ้น ออกจากพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์ และการแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับประเทศไทยหากมีการนำพันธุ์พื้นพืชเมืองทั่วไป พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น หรือพันธุ์พืชป่าไปใช้ประโยชน์ทางการค้า
         ๗. มาตรา ๓๕ ของร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช ฉบับแก้ไข ยังคงให้สิทธิพิเศษต่อเกษตรกรให้สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ของพันธุ์พืชที่ได้รับการคุ้มครองไว้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของตนเองได้เช่นเดิม ฉะนั้น เกษตรกรจึงสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ทั่วไปหรือเมล็ดพันธุ์ของพันธุ์พืชที่ได้รับการคุ้มครอง ไว้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของตนเองได้ตลอดไปโดยไม่มีความผิดประการใด เพียงแต่ไม่สามารถนำเมล็ดพันธุ์ของพันธุ์พืชที่ได้รับการคุ้มครองไปจำหน่ายโดยมิได้รับอนุญาตจากนักปรับปรุงพันธุ์เจ้าของพันธุ์นั้น
         ๘. การที่ วรรค ๒ ของมาตรา ๓๕ ของร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช ฉบับแก้ไข กำหนดว่า "เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์ รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช มีอำนาจออกประกาศกำหนดพันธุ์พืชใหม่ชนิดใดเป็นพันธุ์พืชที่สามารถจำกัดปริมาณการเพาะปลูกหรือการขยายพันธุ์ทั้งหมดหรือบางส่วนได้" เป็นประโยชน์ในการป้องกันการละเมิดกฎหมายโดยใช้สิทธิพิเศษต่อเกษตรกรดังกล่าวข้างต้นไปในทางที่ผิด โดยเฉพาะในกรณีที่พันธุ์พืชบางชนิดสามารถขยายพันธุ์ปริมาณมากได้โดยง่าย เช่น การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้ หรือการตอนหรือปักชำไม้ผลไม้ประดับ หรือการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักที่เป็นพันธุ์ผสมเปิด เป็นต้น
         ๙. การขยายการคุ้มครองจากเมล็ดพันธุ์และส่วนขยายพันธุ์ ไปถึงผลผลิตและผลิตภัณฑ์ ตามที่ระบุในมาตรา ๓๗ และ ๓๘ ของของร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช ฉบับแก้ไขนั้น เป็นประโยชน์ในการป้องกันการละเมิดกฎหมายโดยใช้สิทธิพิเศษต่อเกษตรกรไปในทางที่ผิดเช่นกัน โดยที่การขยายการคุ้มครองนั้น ครอบคลุมเฉพาะผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ ที่เกิดจากส่วนขยายพันธุ์ที่ได้มาโดยมิชอบเท่านั้น
         ๑๐. ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช ฉบับแก้ไข ขยายการคุ้มครองไปถึงพันธุ์ที่ได้มาจากพันธุกรรมสำคัญมาจากพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครอง (Essentially Derived Variety – EDV) นั้น เป็นประโยชน์อย่างมากในการส่งเสริมการต่อยอดการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ ในขณะที่ยังคงป้องกันการละเมิดสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์ มิได้เป็นการเอื้อให้เกิดการผูกขาดพันธุ์พืชใหม่แต่อย่างใด โดยที่ EDV หมายถึง พันธุ์ที่ได้มาจากการนำพันธุ์ตั้งต้นไปปรับปรุงเล็กน้อย จนได้ผลเป็นพันธุ์ที่มีลักษณะทางกายภาพแตกต่างจากพันธุ์ตั้งต้นเพียงเล็กน้อย แต่ลักษณะส่วนใหญ่ยังคงเหมือนพันธุ์ตั้งต้น ทั้งนี้ พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. ๒๕๔๒ (ฉบับปัจจุบัน) มิได้ให้ความคุ้มครอง EDV กับนักปรับปรุงพันธุ์ผู้พัฒนาพันธุ์ตั้งต้นของ EDV จึงทำให้สามารถใช้ช่องว่างทางกฎหมาย ละเมิดสิทธิในพันธุ์ตั้งต้นเพื่อประโยชน์ทางการค้าได้โดยง่ายและภายในระยะเวลาสั้น ซึ่งเป็นการเอาเปรียบนักปรับปรุงพันธุ์ที่ต้องใช้เทคโนโลยี ความรู้ และความมานะพยายาม ในระยะเวลานาน กว่าที่จะสามารถพัฒนาพันธุ์ตั้งต้นขึ้นมาได้
         ๑๑. การที่ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช ฉบับแก้ไข ขยายการคุ้มครองไปถึง EDV โดยที่การนำ EDV ไปจำหน่าย จะต้องได้รับอนุญาตจากนักปรับปรุงพันธุ์ผู้พัฒนาพันธุ์ตั้งต้นก่อน จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง บนพื้นฐานของความเป็นธรรมและจริยธรรม และไม่กระทบต่อสิทธิหรือสิทธิพิเศษของเกษตรกร หรือเอื้อให้เกิดการผูกขาดแต่อย่างใด อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้มีการต่อยอดพัฒนาให้มีพันธุ์พืชใหม่ที่แตกต่างและหลากหลายจากพันธุ์พืชเดิมมากยิ่งขึ้น แทนที่จะเป็นเพียงการหาช่องทางปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยให้ได้เพียง EDV เท่านั้น ซึ่งไม่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาพันธุ์ในระยะยาว
         ๑๒. การแบ่งปันผลประโยชน์ในการที่มีการนำพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป หรือพันธุ์พืชป่า ไปใช้ประโยชน์ทางการค้า เป็นหลักการที่ถูกต้องและเป็นธรรม ซึ่งมาตรา ๖๒ และ ๖๓ ของร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช ฉบับแก้ไข กำหนดให้ต้องขออนุญาต และทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ไว้ด้วยแล้ว ดังนั้นการที่บุคคลใดจะนำพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป หรือพันธุ์พืชป่า ไปทำการปรับปรุงพันธุ์ จึงต้องขออนุญาตและทำตามเงื่อนไขของการแบ่งปันผลประโยชน์ตามมาตรา ๖๒ และ ๖๓
         ด้วยข้อมูลและเหตุผลดังกล่าวข้างต้น สมาคมปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย สมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย และสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย จึงขอสนับสนุนการปรับแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. ๒๕๔๒ เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าการเกษตรไทย การปรับปรุงพันธุ์พืชของไทยโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง การสร้างแรงจูงใจให้นักปรับปรุงพันธุ์รุ่นใหม่ และตลอดจนส่งเสริมความสำเร็จของการเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ของประเทศไทย บนพื้นฐานของการดำรงไว้ซึ่งจริยธรรมวิชาชีพ และความถูกต้องเป็นธรรมต่อทั้งเกษตรกร นักปรับปรุงพันธุ์ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง