ปลูกได้ ถูกกฏหมาย ภายใต้การควบคุม!

 

 

       ลายคนมักเข้าใจผิดคิดว่า ต้นกัญชงก็คือกัญชา แท้จริงแล้วต้นกัญชงแค่มีลักษณะคล้ายคลึงกับต้นกัญชาในด้านลักษณะทางพฤกษศาสตร์เท่านั้น ไม่ใช่พืชที่มีสารเสพติดเหมือนกัญชา เพียงแต่ต้นกัญชงเป็นพืชที่นิยมนำมาแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการถักทอ ทว่าทั้งกัญชง และกัญชาเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดมาจากพืชชนิดเดียวกันในเขตอบอุ่น ทางตอนใต้ของแคว้นไซบีเรีย ประเทศเปอร์เซีย แคว้นแคชเมียร์ของอินเดีย และตอนเหนือของจีน จนได้สายพันธุ์ที่แตกต่างไปจากสายพันธุ์เดิมแล้วเรียกมันว่า “กัญชง“ ชื่อสามัญ Hemp (เฮมพ์) ชื่อวิทยาศาสตร์ Cannabis sativa L.subsp.Sativa จัดอยู่ในวงศ์กัญชา (CANNABACEAE)

      ลักษณะของกัญชง : ต้น เป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุปีเดียว ลำต้นสีเขียวตั้งตรง สูง 1-6 เมตร อวบน้ำ เริ่มสร้างเนื้อไม้ เมื่ออายุ 2-3 สัปดาห์ เติบโตจะช้าช่วง 6 สัปดาห์แรก จากนั้นจะเพิ่มความสูงอย่างรวดเร็ว รากเป็นระบบรากแก้วและมีรากแขนงมาก ,ใบ ใบเป็นใบเดี่ยว รูปฝ่ามือ แผ่นใบแก่แยกเป็นแฉก 7-9 แฉก ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อยและเว้าลึกจนถึงโคนใบ ปลายสอบและเรียวแหลม ก้านใบยาว 2-7 เซนติเมตร ,ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด ขนาดเล็กสีขาว เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-4 มิลลิเมตร เป็นแบบแยกเพศและอยู่ต่างต้นกัน มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียวอมเหลือง,ผล เป็นเมล็ดแห้งสีเทา รูปไข่ ผิวเรียบเป็นมัน มีลายสีน้ำตาล ภายในเมล็ดมีอาหารจำพวกแป้ง ไขมัน โดยมีน้ำมันถึง 29-34% ,ขยายพันธุ์ ด้วยเมล็ด ใช้เวลางอก 8-14 วัน เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 3-4 เดือน

      สรรพคุณทางยา : ใบ บำรุงโลหิต ช่วยให้ผ่อนคลาย สดชื่น ให้นอนหลับสบาย บรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะหรือไมเกรน แก้กระหาย รักษาโรคท้องร่วง โรคบิด บรรเทาอาการเจ็บปวด คลายกล้ามเนื้อ รักษาโรคเกาต์, เมล็ด ภูมิปัญญาของชาวม้งจะใช้เมล็ดสดเป็นยาสลายนิ่ว โดยนำมาเคี้ยวสดๆ

 

 

       ประโยชน์ด้านอื่น : เปลือกลำต้น ให้เส้นใยเพื่อนำไปใช้ทำเป็นเส้นด้ายและเชือก ใช้สำหรับทอผ้า ทำเครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ อาทิ ใช้ทำเป็นด้ายสายสิญจน์ในพิธีกรรมต่างๆ ,ใช้ในพิธีอัวเน็งหรือพิธีเข้าทรง ซึ่งเป็นงานประเพณีสำคัญของชาวม้ง ,เนื้อลำต้น นำมาผลิตเป็นกระดาษได้, แกนของต้น มีคุณสมบัติดูดซับกลิ่น น้ำ หรือน้ำมันได้ดี ในต่างประเทศนิยมนำไปผลิตเป็นพลังงานชีวมวลในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ถ่านไม้, Alcohol, Ethanol, Methanol อีกทั้ง ถูกนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการตกแต่งอาคารและเฟอร์นิเจอร์ด้วย,เมล็ด ใช้เป็นอาหารของคนและนก เมล็ดกัญชงที่เก็บได้สามารถนำมาสกัดเอาน้ำมันมาใช้ในการปรุงอาหาร ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ในน้ำมันจากเมล็ดมีโอเมก้า3 สูงมาก ทั้งยังมีโอเมก้า 6, โอเมก้า 9, linoleic acid, alpha- และ gamma-linolenic acid และสารในกลุ่มวิตามิน เช่น วิตามินอี ซึ่งเมื่อบริโภคแล้วจะมีประโยชน์ต่อการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ,ช่วยลดการเกิดโรคมะเร็ง ,มีโปรตีนสูงมากนำมาใช้ทำผลิตภัณฑ์ อาทิ เนย ชีส เต้าหู้ โปรตีนเกษตร นม ไอศกรีม น้ำมันสลัด อาหารเสริม ฯลฯ หรือผลิตเป็นแป้งทดแทนถั่วเหลืองได้เป็นอย่างดี,น้ำมันจากเมล็ด นำไปผลิตเป็นน้ำมันซักแห้ง ทำสบู่ เครื่องสำอาง ครีมกันแดด แชมพู สบู่ โลชั่นบำรุงผิว ลิปสติก ลิปบาล์ม แผ่นมาส์กหน้า แม้กระทั่งเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง 

        ในประเทศญี่ปุ่นมีการปลูกต้นกัญชงเพื่อกำจัดกัมมันตภาพรังสีให้สลายตัวที่จังหวัด Fugushima และสารกัมมันตภาพรังสีรั่วจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียที่ระเบิดจากสึนามิ ซึมลงดินจนไม่สามารถทำการเกษตรได้ ด้านเส้นใยชาวญี่ปุ่นนิยมนำมาตัดกิโมโน เพราะเป็นผ้าที่มีความทนทานนับร้อยปี

 

 

      คุณสมบัติเส้นใยกัญชง : มีคุณภาพสูงมาก เพราะมีคุณสมบัติที่แข็งแรงกว่าผ้าฝ้าย สามารถดูดซับความชื้นได้ดีกว่าไนลอน และให้ความอบอุ่นยิ่งกว่าลินิน จึงเหมาะนำมาใช้ทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม ดังงานวิจัยของสถาบันฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประเทศจีน พบว่า ผ้าที่ทอจากเส้นใยกัญชง แม้จะทอด้วยเส้นใยเพียงครึ่งหนึ่งจะช่วยป้องกันรังสี UV ได้สูงถึง 95% และทนความร้อนสูงถึง 370 องศาเซลเซียส อีกทั้ง มีส่วนประกอบของสารที่เอื้อประโยชน์กับสุขภาพ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ จะไม่มีโรคพืชหรือแมลงชนิดใดที่สามารถทำลายต้นกัญชงได้เลย เนื้อสดๆ ที่ห่อด้วยผ้าทอจากเส้นใยกัญชงจะคงความสดและอยู่ได้นานมากกว่าเป็นสองเท่าอีกทั้งใช้ฟั่นเป็นเชือก, ทำเสื้อเกราะกันกระสุน, ทำกระเป๋าหรือรองเท้า, เฟอร์นิเจอร์, ซีเมนต์, วัสดุบอร์ด, อุตสาหกรรมหนัก, ชิ้นส่วนเครื่องยนต์, ข้อต่อจักรยาน, วัสดุทดแทนไม้เนื้อแข็ง, ฉนวนกันความร้อน, วัสดุกันความชื้น, แม้พิมพ์, พรม ฯลฯ

อนาคตของกัญชง

        ที่ผ่านมาประเทศไทยจำแนกกัญชงเป็นพืชเสพติดประเภท 5 เช่นเดียวกับกัญชา ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เนื่องจากสารสำคัญที่มีอยู่ในพืชกลุ่มนี้ คือ tetrahydrocannabinol (THC), Cannabinol (CBN) และ Cannabidiol (CBD) ซึ่ง THC เป็นสารเสพติดที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาททำให้ผู้เสพมีอาการตื่นเต้น ช่างพูด หัวเราะตลอดเวลา ส่วนสาร CBD เป็นสารต้านการออกฤทธิ์ของสาร THC ซึ่งในกัญชงนั้นจะมีปริมาณของสาร THC ต่ำมาก และมีปริมาณของสาร CDB สูงกว่าสาร THC ส่วนกัญชานั้นจะมีปริมาณของสาร THC สูง (ประมาณ 1-10%) 

        หลายๆ ประเทศอนุญาตให้มีการปลูกต้นกัญชงได้อย่างถูกกฎหมาย แต่ต้องควบคุมไม่ให้พืชที่ปลูกมีสารเสพติด (THC) สูงกว่าปริมาณที่กำหนด อย่างในประเทศทางยุโรปจะกำหนดให้มีสาร THC ในกัญชงได้ไม่เกิน 0.2% ในแคนาดากำหนดให้มีไม่เกิน 0.3% และออสเตรเลียกำหนดให้มีไม่เกิน 0.5-1% เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่ล่าสุด จากรายงานของเว็บไซต์คมชัดลึก เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2559 โดยนายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส.ที่เปิดเผยถึงการปรับนโยบายเกี่ยวกับพืชเสพติดและสารเสพติดรวม 4 ชนิด คือ กัญชง กัญชา กระท่อม และเมทแอมเฟตามีน หรือยาบ้า เพื่อให้มีการนำมาใช้ในทางการแพทย์และอุตสาหกรรมอย่างเหมาะสม ซึ่งในส่วนของกัญชงหรือแฮมพ์ ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้เป็นพืชเศรษฐกิจและสามารถปลูกเพื่ออุตสาหกรรมได้

 

 

       ดังนั้น ตั้งแต่ต้นปี 2560 ที่ผ่านมาจึงอนุญาตให้ปลูกได้ตามพื้นที่ที่กำหนด 6 จังหวัด 15 อำเภอ ประกอบด้วย จ.เชียงใหม่ 4 อำเภอ คือ แม่วาง , แม่ริม,สะเมิง ,และแม่แจ่ม จ.เชียงราย 3 อำเภอ คือ เทิง, เวียงป่าเป้า , และแม่สาย จ.น่าน 3 อำเภอ คือ นาหมื่น,สันติสุข, และสองแคว จ.ตาก เฉพาะที่ อ.พบพระ จ.เพชรบูรณ์ 3 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมือง, หล่มเก่า ,เขาค้อ และจุดสุดท้ายที่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งสายพันธุ์ที่นำมาปลูกนั้นจะต้องมีสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทของกัญชาที่ใบและช่อดอก หรือ THC ไม่เกิน 1% หากตรวจพบว่าแปลงใดมีต้นกัญชงที่สาร THC. เกิน 1% ผู้ปลูกจะมีความผิด

       ที่มา : สำนักงานเกษตรอำเภอพบพระ จังหวัดตาก.มารู้จักกัญชง กันเถอะ"www.tak.doae.go.th.,สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ (NNT).“ททท.ตาก ร่วมกับอุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ นำพี่น้องชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง โชว์อลังการทอผ้าใยกัญชง สืบสานวัฒนธรรมชาวม้ง บูชาเทพเจ้า หรือ เย่อโซ๊ะ”.: thainews.prd.go.th.,ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน). “เฮมพ์ (กัญชง) : www.sacict.net.