ไทย ...ผู้นำตลาดข้าวนึ่งคุณภาพสูง

 

 

 รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ อดีตผู้อํานวยการสํานักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สกว.) ได้นำเสนอบทความ เกี่ยวกับศักยภาพข้าวนึ่งของไทยในคอลัมน์เกษตรกรยุคใหม่ หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก เมื่อปลายปีที่ผ่านมาไว้น่าสนใจ โดยเฉพาะประเด็นไทยเราเป็นผู้นำราคาตลาดข้าวนึ่งคุณภาพสูงอันถือเป็นแต้มต่อสำคัญของการเพิ่มมูลค่าข้าวในยุคที่ราคาข้าวถดถอย...

          เมืองไทยผลิตข้าวนึ่งส่งออกไปขายต่างประเทศเป็นอันดับหนึ่งของโลกอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ว่าระยะหลังอินเดียเข้ามายึดครองตลาดข้าวนึ่ง แต่กระนั้น ไทยก็จัดว่าเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวนึ่งรายใหญ่ โดยเฉพาะข้าวนี่งที่มีคุณภาพสูง ไทยเราก็อยู่ในระดับต้นๆ เช่นกัน

          ข้าวนึ่งหรือข้าวพาร์บอยล์ เป็นข้าวที่ผ่านกระบวนการแปรรูปโดยการนำไปนึ่งเพียงบางส่วน หมายความว่าไม่ได้นึ่งจนสุกเป็นข้าวสวยที่เรารับประทานกัน เมื่อนึ่งเสร็จแล้วก็นำมาอบแห้ง ถ้าจะรับประทานสามารถนำมาหุงใหม่ได้ โดยเป็นข้าวประเภทสุกไว เพราะว่าผ่านการนึ่งบางส่วนมาแล้ว

          ข้อดีของข้าวนึ่ง ก็คือเป็นข้าวที่มีวิตามินและแร่ธาตุสูง หุงสุกไวกว่าข้าวสาร และสามารถเก็บรักษาไว้ได้นาานกว่าข้าวที่ไม่ได้แปรรูป ตลาดข้าวนึ่งไม่ได้ใหญ่โตเหมือนข้าวสารทั่วไป แต่เนื่องจากมีผู้ขายอยู่ไม่กี่ราย ทำให้ไทยกับอินเดีย จึงเป็นผู้นำราคาในตลาด และราคาของข้าวนึ่งจากทั้งสองประเทศนี้จึงเป็นราคาอ้างอิงของประเทศผู้ส่งออกข้าวนึ่งรายอื่นๆ

 

          ราคาของข้าวนึ่งในตลาดโลกอาจแกว่งตัวได้ ถ้าประเทศใหญ่ที่ส่งออกอย่างเช่นอินเดียหรือไทย ไม่สามารถผลิตได้มากเท่าที่ตลาดต้องการ หรือเมื่อเกิดภัยพิบัติที่ไม่สามารถผลิตข้าวนึ่งได้พอ ก็จะดึงให้ราคาของข้าวนึ่งสูงขึ้นได้ ซึั่งไทยเราก็เคยได้รับประโยชน์ข้อนี้มาแล้ว จากการที่อินเดียผลิตข้าวไม่พอต่อความต้องการในประเทศ และงดหรือจำกัดการส่งออกข้าวนึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้

         สำหรับประเทศไทยเองก็เคยเจอวิกฤติข้าวเปลือกภายในประเทศที่มีราคาแพงในช่วงของการใช้นโยบายรับจำนำข้าว ผลปรากฎว่าทั้งปริมาณและมูลค่าข้าวนึ่งไทยในตลาดโลกหายวูบไปเพราะว่าไม่สามารถหาข้าวเปลือกมาทำข้าวนึ่งได้เนื่องจากข้าวเปลือกส่วนใหญ่เกษตรกรนำไปจำนำกับรัฐบาล

          ตลาดใหญ่ข้าวนึ่งของไทยเราคือกลุ่มประเทศแอฟริกา เช่นไนจีเรีย แอฟริกาใต้ รองลงไปคือตลาดตะวันออกกลาง อย่างเช่นซาอุดิอาราเบีย เป็นต้น สัดส่วนมูลค่าการส่งออกของข้าวนึ่งของไทยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 20 ของข้าวไทยทั้งหมด โดยมูลค่าส่งออกสูงสุดของข้าวไทยคือข้าวหอมมะลิ ร้อยละ 40

          ความจริงแล้วเรื่องมูลค่าการส่งออกนี้บอกอะไรได้บางอย่างเหมือนกันเมื่อเทียบมูลค่ากับปริมาณการส่งออกของข้าวไทยแต่ละประเภทแล้ว ข้าวหอมมะลิมีปริมาณการส่งออกน้อย แต่มีสัดส่วนมูลค่าสูงที่สุด แสดงว่าเป็นของดี มีคุณภาพและขายน้อยแต่ได้เงินมาก ขณะที่ข้าวขาว แม้เราจะผลิตมากก็จริง แต่ราคาตลาดโลกไม่อยู่ในความควบคุมของเรา

          จุดนี้เอง เป็นสิ่งที่น่าคิดว่า ถ้าเราหาทางเพิ่มมูลค่าของข้าวไทยให้เหมาะสมกับตลาดเฉพาะ หรือมีคู่แข่งน้อย ก็น่าจะเป็นการสร้างรายได้ให้มากขึั้น โดยมีปริมาณการส่งออกไม่จำเป็นต้องมากนักก็ได้

          ถ้าหันมาดูเรื่องคุณภาพข้าวนึ่ง ตอนนี้ราคาซื้อขายข้าวนึ่งในตลาดโลกมีความแตกต่างกันและหลากหลายพอสมควรตามระดับชั้นคุณภาพของข้าว ซึ่งเรื่องของคุณภาพข้าวนึ่งนั้น จะมีทั้งขนาดความยาวของเม็ดข้าวนึ่ง สีและความสว่าง สัดส่วนเปอร์เซ็นต์ข้าวหัก และความสม่ำเสมอของสีและเมล็ดข้าว เป็นต้น ถ้าเราสามารถผลิตข้าวนึ่งคุณภาพสูงได้ โอกาสที่จะได้ราคาสูงขึ้นก็จะมีมาก

          ตอนนี้ข้าวนี่อินเดีย จะได้ราคาต่ำที่สุดในบรรดาของประเทศที่ส่งข้าวนึ่งออกต่างประเทศ แต่ว่าอินเดียก็เป็นผู้นำราคาในตลาดข้าวเกรดปานกลาง ส่วนของไทยนั้นเป็นผู้นำราคาในตลาดข้าวนึ่งคุณภาพสูง

         ดังนั้น หากเราใช้แต้มต่อนี้ให้ดี ก็มีโอกาสขยายตลาดได้อีกมากและจะเข้าข่ายขายน้อยแต่ได้มากครับ

         ที่มาข้อมูล - คม ชัด ลึก