เกษตรฯ ยุค 4.0 ใช้ QR Code เชื่อมโยงบริหารจัดการน้ำ

         กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าสู่ Thailand 4.0 นำเทคโนโลยี QR Code ประยุกต์ใช้ร่วมกับระบบฐานข้อมูลโครงข่ายหมุดหลักฐาน ใช้อ้างอิงในการบริหารจัดการน้ำและการดำเนินโครงการชลประทานต่างๆ ผ่านสมาร์ทโฟน เผยช่วยลดขั้นตอนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

         พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมชลประทานโดยสํานักสํารวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา ได้มีการนําเทคโนโลยี QR Code มาประยุกต์ใช้ร่วมกับระบบฐานข้อมูลโครงข่ายหมุดหลักฐาน สามารถเข้าถึงข้อมูลของหมายหมุดหลักฐานได้ผ่านสมาร์ทโฟน โดยใช้ Application Line หรือ Application QR Code reader ต่างๆ ซึ่งหมุดหลักฐานดังกล่าว เป็นนวัตกรรมที่สามารถเชื่อมโยงกับการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน ทำให้เจ้าหน้าที่ทราบได้ว่าพื้นที่จุดนี้สูงกว่าน้ำทะเลเท่าไหร่ และสามารถระบายน้ำออกจากเขื่อนในปริมาณเท่าไหร่ ถึงจะสามารถส่งน้ำให้ประชาชนได้อย่างเพียงพอ ส่วนประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับนั้น คือสามารถเข้าถึงข้อมูลของพื้นที่ของอ่างเก็บน้ำได้ง่าย รวมถึงได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากการบริหารจัดการน้ำของทางกรมชลประทานด้วย

         นายประทีป ภักดีรอด ผู้อำนวยการสำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา กรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 เป็นต้นไป สำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา กรมชลประทานจะนำเทคโนโลยี QR Code มาประยุกต์ใช้ร่วมกับระบบฐานข้อมูลโครงข่ายหมุดหลักฐาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกรวดเร็วเป็นสากล ผ่านทางสมาร์ทโฟน โดยใช้ Application Line หรือ Application QR Code reader ต่างๆ ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนในการติดต่อขอหมายหมุดหลักฐาน ค้นหาข้อมูล และจัดส่งข้อมูล สอดคล้องกับแนวทางในการพัฒนาหน่วยงานตามนโยบายThailand 4.0 ของรัฐบาล

         สำหรับระบบฐานข้อมูลโครงข่ายหมุดหลักฐานแผนที่ของกรมชลประทานนั้น เป็นหมุดที่ให้ค่าพิกัดและค่าระดับความสูงเหนือทะเลปานกลาง (รทก.) ใช้อ้างอิงในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ หรือประกอบการปฏิบัติงาน โครงการชลประทานด้านอื่นๆ โดยจะทำขึ้นเป็นรายโครงการ ซึ่งเดิมนั้นหมุดหลักฐานจะเป็นระบบอนาล็อก ขั้นตอนการดำเนินงานในการสืบค้นและจัดส่งข้อมูลจะต้องใช้เวลานาน แต่เมื่อมีการนำเทคโนโลยี QR Code ซึ่งเป็นระบบดิจิตอลมาประยุกต์ใช้ ทำให้ลดขั้นตอนการทำงาน สืบค้นข้อมูลได้ทันท่วงที ประหยัดงบประมาณ และมีความแม่นยำช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น

         รองโฆษกกรมชลประทาน กล่าวต่อว่า ในการประยุกต์ใช้งาน QR Code ร่วมกับหมุดหลักฐานดังกล่าวนั้น สำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา โดยส่วนวิศวกรรม ได้มีการออกแบบเพลทหมุดหลักฐานและระบบฐานข้อมูลเพื่อให้รองรับการทำงานร่วมกับ QR Code โดยจะประสานขอใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายเสมือนภายใต้บริการ RID-Cloud เพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับจัดเก็บข้อมูล และสร้าง Uniform Resource Locator (URL) สำหรับเชื่อมโยงมายังฐานข้อมูลหมายหมุดหลักฐาน พร้อมทั้งได้จัดทำมาตรฐานเพลทหมุดหลักฐานกรมชลประทานใหม่ เพื่อให้รองรับระบบการทำงานร่วมกับระบบฐานข้อมูล และระบบ QR Code โดยสร้างเพลทหมุดหลักฐานด้วยเครื่องยิง Laser fiber บนแผ่นเพลทโลหะและจะนำไปติดไว้โครงการชลประทานต่างๆ แทนหมายหมุดเดิม ซึ่งผู้สนใจข้อมูลของโครงการไหนสามารถสืบค้นข้อมูลได้จากการแสกน QR Code ที่แสดงไว้บนหมุดหลักฐานนั้นได้เลย