ปลูกมะม่วงระวัง "เพลี้ยจักจั่น" กินช่อดอก

         คณะทํางานพยากรณ์และเตือนภัยศัตรูพืช กรมวิชาการเกษตร ให้ข้อมูลเตือนภัยการเกษตร ระหว่างวันที่ 22 - 28 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งเป็นช่วงที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นมีหมอกในตอนเช้ามืด โดยชนิดพืชที่อาจเกิดผลกระทบ คือ มะม่วง ในระยะที่กำลังแทงช่อดอก อาจจะมี เพลี้ยจักจั่นมะม่วง มาทำให้ดอกและยอดอ่อนเสียหายได้

         ทั้งนี้เกษตรกรอาจพบ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัยทําลายใบอ่อน ช่อดอก ก้านดอก และยอดอ่อน ซึ่งระยะที่ทําความเสียหายให้มากที่สุด คือ ระยะที่มะม่วงกําลังออกดอก โดยดูดน้ำเลี้ยงจากช่อดอก ทําให้แห้ง และดอกร่วง ติดผลน้อย หรือไม่ติดเลย ระหว่างที่เพลี้ยจักจั่นดูดกินน้ำเลี้ยงจะถ่ายมูลมีลักษณะเป็นน้ำหวานเหนียวๆ ติดตามใบ ช่อดอก ผล และรอบๆ ทรงพุ่ม ทําให้ใบมะม่วงเปียกต่อมาจะเกิดราดําปกคลุม ถ้าเกิดมีราดําปกคลุมมาก มีผลต่อการสังเคราะห์แสงใบอ่อนที่ถูกกินน้ำเลี้ยง (โดยเฉพาะระยะใบเพสลาด) จะบิดงอโค้งลง ด้านใต้ใบจะมีอาการปลายใบแห้งให้สังเกตได้

         สำหรับแนวทางป้องกันและแก้ไข มีดังนี้

         1. การตัดแต่งกิ่งภายหลังเก็บผลผลิตเป็นวิธีควรกระทําอย่างยิ่ง เพราะช่วยลดที่หลบซ่อนของเพลี้ยจักจั่นลง ทําให้การพ่นสารฆ่าแมลงมีประสิทธิภาพดีขึ้น

         2. ถ้าหากไม่มีการป้องกันกําจัด มะม่วงจะไม่ติดผลเลยจึงควรพ่นด้วยสารฆ่าแมลง แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ก่อนมะม่วงออกดอก 1 ครั้ง เมื่อช่อดอกบานแล้วไม่ควรพ่นสารฆ่าแมลง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อแมลงผสมเกสร และหมั่นตรวจดูตามช่อดอกอยู่เรื่อยๆ

         3. การพ่นสารฆ่าแมลงให้มีประสิทธิภาพควรพ่นให้ทั่วถึงลําต้น มิเช่นนั้นตัวเต็มวัยจะเคลื่อนย้ายหลบซ่อนไปยังบริเวณที่พ่นสารฆ่าแมลงไม่ถึง นอกจากนี้ ยังต้องคํานึงการปรับหัวฉีดให้เป็นละอองฝอยและระยะเวลาการฉีดพ่น

         4. ใช้น้ำฉีดล้างช่อดอกและใบ เพื่อช่วยแก้ปัญหาช่อดอกและใบดําจากโรคราได้บ้าง ถ้าแรงอัดฉีดของน้ำแรงพอก็ช่วยให้เพลี้ยในระยะตัวอ่อนกระเด็นออกจากช่อดอกได้ ต้องระมัดระวังอย่าให้กระแทกดอกมะม่วงแรงเกินไป เพราะอาจทําให้ดอกหรือผลที่เริ่มติดร่วงได้

         5. ใช้กับดักแสงไฟ ดักตัวเต็มวัยที่บิน มาเล่นไฟ