ยกระดับผักและผลไม้ไทยด้วย "สมาร์ทฟาร์มเมอร์"

         รศ.วันชัย แหลมหลักสกุล อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยี วิศวกรรมอุตสาหการ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอุตสาหการ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เห็นความสำคัญของการปรับตัวของผู้ประกอบการภาคเกษตรของประเทศไทยรองรับแนวโน้มการแข่งขันในตลาดโลกที่สูงขึ้นต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องพัฒนาเกษตรกรรมสู่ความยั่งยืนด้วยนวัตกรรม 4.0 ภายใต้โครงการ "ยกระดับผักและผลไม้ไทย : โอกาสสำหรับพัฒนาเกษตรกรรมสู่ความยั่งยืน" ด้วยนำเทคโนโลยีด้านสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ที่เน้นการพัฒนาเกษตรกรให้มีความสามารถพึ่งพาตนเองได้

         ทั้งนี้หากควบคุมปัจจัยสภาพแวดล้อมการผลิตหรือกระบวนการทางเกษตรกรรมได้จะทำให้พืชผลทางการเกษตรมีคุณภาพ มีความปลอดภัย ตรวจสอบย้อนกลับ และบันทึกข้อมูลทางการเกษตรเพื่อวางแผนการผลิตรอบต่อไป โดยการพัฒนารูปแบบการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหรือพืชที่มีราคาสูงและความต้องการของตลาดมีมาก ด้วยการส่งเสริมการปลูกในโรงเรือนอัจฉริยะผู้ปลูกสามารถควบคุมปัจจัยการเจริญเติบโตของพืชให้มีคุณภาพและผลผลิตที่สูงโดยไม่ต้องพึ่งพาดินฟ้าอากาศ เนื่องจากโรงเรือนอัจฉริยะเป็นโรงเรือนที่มีระบบควบคุมอัตโนมัติที่ควบคุมปัจจัยต่าง ๆ พร้อมทั้งติดเซนเซอร์ไว้ส่วนที่ต้องควบคุมการเจริญเติบโตของพืช ถือเป็นการช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมพิเศษให้เหมาะสมกับการเติบโตของพืชที่จะปลูก สร้างระบบเกษตรกรรมความแม่นยำสูงที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในหลายด้าน และยังให้ผลผลิตสูงหรือหากไม่สูงยังเป็นผลผลิตที่สามารถคาดการณ์ได้

         ปัจจุบันนี้เกษตรกรรมในประเทศไทยยังประสบปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะมิติของผลิตภาพและต้นทุนการผลิตและสภาพดินฟ้าอากาศที่ควบคุมไม่ได้มีผลต่อการทำเกษตรกรรมอย่างมาก ทำให้ผลผลิตที่ได้จากการทำเกษตรยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่สูง และรายได้เกษตรกรมีอัตราเฉลี่ยต่ำ เนื่องจากเกษตรกรไม่มีความรู้เพียงพอ ขาดข้อมูลเชิงลึกด้านการตลาดสำหรับวางแผนการผลิต ความรู้ในการผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพสูงที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าอาชีพเกษตรกรยังขาดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการสร้างความเข้มแข็งให้สามารถพึ่งตนเองได้ในระยะยาว จึงต้องส่งเสริมความเข้มแข็งให้เกษตรกรจะทำให้ภาครัฐไม่จำเป็นต้องกำหนดนโยบายแก้ปัญหาเฉพาะหน้า