สภาเกษตรกรฯ ร่วมมือ กระทรวงวิทย์ฯ นำความสำเร็จสู่มือเกษตรกร

         นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า จากการที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมขับเคลื่อนแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม ร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ในโครงการพัฒนาเกษตรกรด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา ได้รับความอนุเคราะห์จากทางรัฐมนตรีส่งนักวิจัยเข้ามาช่วยหลายเรื่อง และได้ผลดียิ่ง

         ทั้งนี้หน่วยงานหลักของกระทรวงวิทย์ฯ คือสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.) ที่มุ่งเรื่องการจัดการน้ำ, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ที่มุ่งเรื่องการนำงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปพัฒนาการผลิต การแปรรูป สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) รวมทั้งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในปีงบประมาณ 2561 จะมีการร่วมมือกันทำงานอย่างต่อเนื่อง และจะขยายผลให้ครอบคลุมไปถึงการผลิตในสาขาต่างๆ ทั้งพืชและปศุสัตว์ โดยเน้นการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม

         โดยในการปฏิบัติงาน นายเสน่ห์ วิชัยวงษ์ รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อปี 2560 สภาเกษตรกรฯได้ร่วมกับ สสนก.จัดตั้งศูนย์น้ำใน 20 สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด ซึ่งสามารถแจ้งข้อมูลข่าวสารด้านน้ำและสภาพภูมิอากาศถึงเกษตรกรในระดับหมู่บ้านซึ่งมีประโยชน์ในการวางแผนการผลิตได้ดี

         สำหรับด้านงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ได้ร่วมมือกับ วว.ดำเนินการใน 3 กิจกรรม คือ เกษตรกรไฮเทค, การสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร และสร้างชุมชนเกษตรนวัตกรรม ผลงานที่เห็นเด่นชัดคือ การพัฒนาให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านโนนใน อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร ลดต้นทุนการแปรรูปกล้วย โดยใช้เตาชีวมวลประสิทธิภาพสูงทดแทนการใช้แก๊สหุงต้ม จนสามารถผลิตกล้วยกวนได้ปริมาณมากขึ้น จากเดิมวันละ 3 กระทะ เพิ่มเป็นวันละ 8 กระทะ และสามารถลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงลงได้เป็นจำนวนเงิน 7,200 บาทต่อเดือน คิดเป็นต้นทุนลดลงร้อยละ 65 จนข่าวความสำเร็จนี้ได้กระจายไปในชุมชน เกิดความต้องการพัฒนาในกลุ่มอื่น

         ซึ่งในปี 2561 จะได้ร่วมมือกับ วว. ในการขยายผลโดยให้เกษตรกรเรียนรู้แล้วไปดำเนินการสร้างเตาด้วยต้นทุน 12,100 บาท เช่น การเผาเซรามิคที่ จ.ลำปาง รวมถึงการนำถ่านไผ่มาใช้ในเตาดังกล่าว ส่วนภาคใต้ใช้เพื่อการทำยางแผ่น นอกจากนั้นในปี 2561 ได้ตั้งเป้าหมายร่วมกับ วว. ในการสร้างเกษตรกรไฮเทค 100,000 ราย การสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร 15,000 ราย สร้างชุมชนเกษตรนวัตกรรม 235 ชุมชน และจับคู่พัฒนา โดยมีตัวอย่างเป้าหมายเช่น ใช้รูปแบบโรงอบมันเส้นสะอาดพลังงานแสงอาทิตย์ของกรมพลังงานเพื่อการแปรรูปมันเส้นสะอาดเพิ่มมูลค่าผลผลิต ของสหกรณ์การเกษตรอุตสาหกรรมมันสำปะหลังวังสามหมอ จำกัด จ.อุดรธานี, การปลูกและแปรรูปมะม่วงน้ำดอกไม้เพื่อการส่งออกของสหกรณ์การเกษตรกุดหมากไฟ จำกัด จ.อุดรธานี เป็นต้น