เลิกเลี้ยงหมูแบบยืนซอง เพื่อผู้บริโภคสุขภาพดี

 

 

เบทาโกรจับมือองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์เนื้อหมูตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ด้วยการเลิกเลี้ยงแบบยืนซอง ตั้งเป้าครบทุกฟาร์มในอีก 10 ปี สร้างมั่นใจ สัตว์สุขภาพดี สู่ผู้บริโภคสุขภาพดี 

         นายวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เครือเบทาโกร เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา เบทาโกรให้ความสำคัญและมุ่งมั่นก้าวเป็นผู้นำในเรื่องการผลิตอาหารที่มีคุณภาพสูง (Food Quality) และปลอดภัย (Food Safety) สำหรับคุณภาพผลิตภัณฑ์แบบเบทาโกร มีความเข้มข้นที่เรียกว่าถ้าสิ่งนั้นไม่ดีจริง จะไม่ออกถึงมือผู้บริโภค (Uncompromising Quality) ซึ่งองค์ประกอบที่ทำให้เกิด Uncompromising Quality มาจาก คนคุณภาพ (Excellent People) ที่เรามุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพของพนักงานทุกระดับ ทำให้มีความรู้ ความสามารถ ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และกระบวนการควบคุมคุณภาพ (Excellent Process) ได้แก่ Betagro Quality Management 24/7 โดยหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) หนึ่งในหัวใจสำคัญที่เป็นเครื่องมือจัดการด้านคุณภาพนี้ด้วย

 

 สุวิมล บุญทารมณ์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรฯ พร้อม ดร.เคท บาร์แซค ผู้เชี่ยวชาญด้านสวัสดิภาพสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ร่วมแสดงความยินดีกับนายวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือเบทาโกร พร้อมคณะผู้บริหารหลังเครือเบทาโกรประกาศยกเลิกการเลี้ยงแบบยืนซองเป็นรายแรกในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

         ในฐานะผู้บุกเบิกธุรกิจปศุสัตว์มาต่อเนื่องกว่า 40 ปี ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสายพันธุ์หมู ซึ่งถือเป็นต้นทางการผลิตผลิตภัณฑ์เนื้อหมูให้มีคุณภาพดี ทั้งด้านการผลิต การควบคุมมาตรฐานและคุณภาพ นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในทุกๆด้าน การคำนึงถึงหลักสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี ยกระดับการเลี้ยงและการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีคุณธรรม ครอบคลุมทุกขั้นตอนการผลิต สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ ได้แก่ นำหลักสวัสดิภาพสัตว์ขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organisation for Animal Health: OIE) มาตรฐานหลักปฏิบัติและกฎระเบียบของสหภาพยุโรป มาประยุกต์ใช้ เป็นต้น 

 

 

 

         ปี พ.ศ.2558 เครือเบทาโกร ได้ร่วมมือกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) เป็นรายแรกในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก ในโครงการยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ รวมถึงลักษณะของสุขภาพสัตว์ที่เกี่ยวข้องในการผลิตสุกรและสัตว์ปีก จากการทำงานร่วมกันตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ปี ทำให้เบทาโกรประกาศยกเลิกการเลี้ยงแม่หมูแบบยืนซองภายหลังคลอดและซองคลอดเป็นรายแรกในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเปลี่ยนมาเป็นระบบการเลี้ยงแบบรวมกลุ่มและคอกคลอด เพื่อให้หมูในฟาร์มเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ ลดภาวะเครียด และแสดงออกถึงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้มากขึ้น โดยตั้งเป้าครบทุกฟาร์มในเครือฯ ภายในปี พ.ศ.2570 ซึ่งจะมีจำนวนแม่หมูไม่ต่ำกว่า 250,000 แม่ ได้รับการปรับปรุงด้านสวัสดิภาพสัตว์ที่ดีขึ้น

 

 

         "เราเชื่อว่าสัตว์ในฟาร์มควรมีคุณภาพชีวิตที่ดี การเลี้ยงแบบรวมกลุ่ม มีพื้นที่เคลื่อนไหวได้มากขึ้น จะทำให้หมูเครียดน้อยลง ทำให้ลูกหมูหย่านมมีน้ำหนักที่ดีกว่าการเลี้ยงในฟาร์มที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการเลี้ยงที่หนาแน่นเกินไปจะทำให้สัตว์เกิดความเครียด พฤติกรรมต่างๆ การทำงานของร่างกาย เช่น ภูมิคุ้มกันและสุขภาพสัตว์จะแย่ลง มักเป็นต้นเหตุของการใช้ยาปฏิชีวนะในอัตราที่สูง ส่งผลต่อคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหาร และมีผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค" นายวนัสกล่าว

         นางสุภาภรณ์ ลาสต์ ผู้อำนวยการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า องค์กรฯภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทำงานร่วมกับเบทาโกรนตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา เพราะเราเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงการเลี้ยงหมูให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เบทาโกรมีแนวคิดและมีความมุ่งมั่นในการเลี้ยงสุกร ไม่เพียงให้ได้มารตฐานสากลแต่ยังให้ความสนใจพัฒนาและปรับปรุงการเลี้ยงให้ดีขึ้น ก่อนผลิตภัณฑ์นั้นจะส่งถึงมือผู้บริโภค