ตัวช่วยเกษตรกรไทยยุค4.0

 

 

กระทรวงเกษตรฯ ลงนาม สทอภ.นำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศพัฒนาเกษตรเชิงพื้นที่ หนุนติดตามพื้นที่เพาะปลูก ประเมินสถานการณ์รับมือภัยแล้ง และภัยพิบัติน้ำท่วม                           

          นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การเกษตรเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ปัจจุบันการบริหารจัดการด้านการเกษตรของประเทศไทยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการเกษตรเชิงพื้นที่ยังไม่กว้างขวาง เนื่องจากขาดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญถ่ายทอดความรู้ ส่งผลให้กระบวนการเพาะปลูกและการผลิตยังคงมีต้นทุนสูง ทำให้เกษตรกรผู้ผลิตมีรายได้ลดลง ขาดประสิทธิภาพในการวางแผนและดำเนินงาน รวมถึงความตระหนักในการใช้ทรัพยากรให้เกิดคุณค่าสูงสุด

 

 นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ

         ดังนั้น หากกระบวนการด้านการเกษตรถูกพัฒนาให้เกิดศักยภาพและเหมาะสมกับประเทศและท้องถิ่นจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ รวมถึงเกิดความยั่งยืนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนคุณภาพชีวิตของเกษตรกรจะถูกพัฒนาอย่างเหมาะสมตามกลไกของการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เมื่อวันที่ 3 พ.ย.60ที่ผ่านมา จึงได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการบริหารจัดการเกษตรเชิงพื้นที่โดยใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ระหว่าง สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ - GISTDA (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. กับ 7 หน่วยงานหลักของกระทรวงเกษตรฯ ได้แก่ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และกรมการข้าว 

 

 

         ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัลในปัจจุบัน เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศซึ่งเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหารจัดการด้านการเกษตร โดยการประยุกต์ใช้เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ วางแผน วิเคราะห์ ตลอดจนแก้ไขปัญหาการดำเนินงาน อีกทั้งช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร นอกจากนี้ ยังเป็นการดำเนินการตามนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี “ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยมีหลักการสำคัญ คือ เปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิมในปัจจุบันไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ หรือ Smart Farming

 

        ด้าน นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า เพื่อให้การพัฒนาการเกษตรของไทยมีประสิทธิภาพโดยนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ อาทิ การติดตามพื้นที่เพาะปลูกพืช การวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ภัยแล้ง หรือภัยพิบัติน้ำท่วม เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะนำข้อมูลจากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาใช้แล้ว ยังร่วมมือกันพัฒนาศักยภาพบุคลากรของหน่วยงานและจัดทำ Application ด้านการบริหารจัดการเกษตรเชิงพื้นที่และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วยถือเป็นการลงนามครั้งที่ 2

 

 

        ทั้งนี้ เดิมได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการว่าด้วยการร่วมกันพัฒนาข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกข้าวของประเทศไทยจากภาพถ่ายดาวเทียมของ 5 หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และ สภทอ. เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2559 การขยายความร่วมมือครั้งนี้เป็นการขยายผลการดำเนินงานตามกรอบบันทึกความร่วมมือด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อบริหารจัดการเกษตรเชิงพื้นที่เพื่อนำไปสู่เกษตรอัจฉริยะ โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนการใช้ทรัพยากรด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาส่งเสริมการทำการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด