3 สถาบันฯ จับมือหนุนศึกษาแบคทีเรียต้าน "โรคกุ้งแห้งในพริก"

         ซินโครตรอน จับมือ มทส และ มนพ ศึกษาแบคทีเรีย กระตุ้นภูมิต้านทานพริกต้านโรคกุ้งแห้ง เพิ่มทางเลือกเกษตรกร ลดปัญหาการใช้สารเคมี

         มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส) และมหาวิทยาลัยนครพนม (มนพ) ร่วมกับ สถาบันวิจัยแสงซินโคร ตรอน ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) และบริษัทไบโอแอคทีฟอุตสาหกรรมเกษตร จำกัด สนับสนุนนักศึกษาปริญญาโท นางสาวดาราวดี วงษ์ชาลี ทำการวิจัยและพัฒนา "การศึกษาประสิทธิภาพเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์  Bacillus  sp. สูตร ENCAPSULATE เพื่อควบคุมโรคแอนแทรคโนสในพริก" โดยใช้เทคนิค Synchrontron FTIR microspectroscopy ในการตรวจวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงสารชีวเคมีในกระบวนการสร้างภูมิต้านทานในใบพริกที่ถูกกระตุ้นจากเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ Bacillus subtilis D604 ให้มีความต้านทานต่อโรคกุ้งแห้งหรือแอนแทรคโนสพริก

         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐธิญา เบือนสันเทียะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า พริก เป็นพืชในตระกูล Solanaceae ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และเป็นเครื่องเทศที่สำคัญชนิดหนึ่งของโลก ปัจจุบันมีการส่งออกผลิตภัณฑ์พริกไปต่างประเทศหลายรูปแบบ โดยซอสพริกมีสัดส่วนการส่งออกสูงที่สุด มูลค่าประมาณปีละ 1,000 - 1,200 ล้านบาท โดยโรคที่สร้างความเสียหายให้กับการปลูกพริกมากที่สุด คือ โรคกุ้งแห้งหรือแอนแทรคโนส ซึ่งส่งผลให้ผลผลิตลดลงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

         ทั้งนี้การระบาดของโรคพริกอย่างต่อเนื่องก่อให้เกิดความเสียหายหายต่อผลผลิต ซึ่งเกษตรกรมีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคพริกเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เป็นเหตุให้มีสารเคมีตกค้างในผลผลิต ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้นและผลผลิตลดลง คณะนักวิจัยจึงได้ทำการศึกษาประสิทธิภาพเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์  Bacillus subtilis สายพันธุ์ D604  สูตรสำเร็จสารชีวภัณฑ์ในรูปแบบเม็ดเจลบีด เพื่อกระตุ้นให้พริกมีความแข็งแรงและมีภูมิต้านทานต่อโรคแอนแทรคโนสทดแทนการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราสาเหตุโรคดังกล่าว

         ด้าน ดร.กาญจนา ธรรมนู ผู้ร่วมวิจัยจากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวเสริมว่า เทคนิค Synchrotron FT-IR microspectroscopy ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน สามารถใช้ในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อใบพริกเมื่อกระตุ้นด้วยเชื้อแบคทีเรีย B. subtilis สายพันธุ์ D604 เพื่อให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของสารชีวเคมีที่เกี่ยวข้องกับกลไกความต้านทานภายในใบพริก เช่นการเปลี่ยนแปลงของไขมัน โปรตีน เซลลูโลส เฮมิเซลลูโลส โพลีแซคคาไรด์ โดยแสงซินโครตรอนมีคุณสมบัติพิเศษคือ มีลำแสงขนาดเล็กและความเข้มสูงทำให้สามารถวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อใบได้ในระดับผนังเซลล์ได้ ผลการทดลองนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการศึกษากลไกการเปลี่ยนแปลงของสารชีวโมเลกุลในพริก ที่อาจมีผลต่อการส่งเสริมการเจริญเติบโตและไปกระตุ้นให้พริกมีความแข็งแรง สามารถต้านทานเชื้อราอันเป็นสาเหตุของโรคแอนแทรคโนสได้

         ความร่วมมือในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเป็นหนทางหนึ่งในการแก้ปัญหาสารเคมีตกค้างในพริก และยังช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของสถาบันฯ และ มทส. ที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้มีการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการแก้ไขปัญหาการเกษตรของประเทศต่อไป

 

ที่มา กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี